งานทักษะฝีมือแรงงาน vs ความต้องการของอุตสาหกรรม
การจัดงานแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 27 แล้ว โดยนายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ได้แนวคิดมาจากองค์การ “WorldSkills” หรือเรียกว่า “การแข่งขันฝีมือแรงงานเยาวชนนานาชาติ”
เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยแสดงทักษะฝีมือให้เป็นที่รับรู้ของประชาชนทั่วไป สนับสนุนให้กำลังแรงงานไทยมีความพร้อมที่จะพัฒนาทักษะฝีมือของตนเองทัดเทียมมาตรฐานสากล ตามแผนพัฒนากำลังคน 20 ปีของรัฐบาล ซึ่งผลการแข่งขันในแต่ละครั้งจะบ่งบอกถึงศักยภาพในการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศที่มีความก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ เกิดความน่าเชื่อถือกับนักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุน ทั้งด้านอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ
ในการแข่งขันฝีมือแรงงานนี้มีสาขาที่เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 26 รายการ แต่ละรายการมีจำนวนผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 12 ทีม แล้วให้แข่งขันกันจนกระทั่งเหลือเพียง 3 ทีมสุดท้ายที่ได้เข้ารอบ หลังจากนั้นก็จะนำตัวผู้ชนะเลิศไปเก็บตัวเพื่อเตรียมตัวเข้าแข่งขันในระดับอาเซียนต่อไป การเข้าแข่งขันฝีมือแรงงานระดับนานาชาตินั้นเป็นดั่งการประกาศศักดาและโชว์ศักยภาพของแรงงานคนไทยทั่วโลกได้เห็นว่าประเทศไทยของเรานั้นมีดีไม่ต่างจากต่างประเทศเลย
สำหรับภาคอุตสาหกรรมการแข่งขันเหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะประเทศเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกวัน แรงงานวัยรุ่นก็มีน้อยแสนน้อย การขาดแคลนแรงงานจึงเกิดขึ้นมา เรานำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างผิดกฎหมายเพื่อมาอุดช่องโหว่นี้ แต่เนื่องจากกฎหมายแรงงานต่าง ๆ ทำให้เราไม่สามารถนำพวกเขามาทำงานให้เราได้ตลอดไป ภาครัฐเองก็เล็งเห็นถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานเช่นกัน จึงได้เร่งผลักดันให้เด็กรุ่นใหม่หันไปศึกษาต่อด้านวิชาชีพมากขึ้น เพื่อที่พวกเขาจะได้สามารถเข้าไปทำงานทดแทนจำนวนแรงงานที่ขาดไปได้ในอนาคต
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) และยุค 4.0 ที่ว่าหมายถึงการปรับระบบการทำงานจากเดิมเป็นการใช้ระบบอนาล็อคและเข้าสู่ยุคดิจิทัล แล้วมีผลอย่างไรกับเรื่องแรงงาน... คำตอบคือ แม้มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา อย่างไรก็ยังต้องใช้คนอยู่ดี เราจึงต้องมีการพัฒนาทักษะเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ อาจมีผลกระทบต่อแรงงานบางส่วนที่ไม่ได้พัฒนาทักษะฝีมือ เราจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ในประเภทงานที่ขาดแคลนแรงงานด้วย ซึ่งในส่วนของงานหัตกรรมที่เป็นงานฝีมือเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีคงไม่สามารถทำแทนได้
ในงานนี้เราได้เข้าไปสัมภาษณ์ผู้ที่มีความรู้ในสาขาฝีมือแรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอยู่หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นสาขาอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) สาขาซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล CNC (CNC Maintenance) สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม (Welding) สาขาระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม (Industrial Automation) และสาขามาตรวิทยาด้านมิติ (Metrology) ถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเหล่านี้ในอนาคตและการเข้ามาของระบบหุ่นยนต์และอัตโนมัติต่าง ๆ รวมไปถึงเหตุผลที่เรายังต้องการแรงงานที่มีฝีมืออยู่
คุณพิเชฐ สุรินทนนท์รักษ์ หนึ่งในกรรมการตัดสินจากสาขาอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) ได้กล่าวถึงการใช้ IoT ในโรงงานว่าเราสามารถควบคุมระบบทุกอย่างในโรงงานได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และการที่มีระบบอัตโนมัติเข้ามาจะช่วยในเรื่องลดความผิดพลาดและเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ สำหรับเรื่องการจ้างฝีมือแรงงานเข้ามาทั้ง ๆ ที่เราติดตั้งระบบ IoT ในโรงงานแล้ว คุณพิเชฐกล่าวว่า เราลดจำนวนแรงงานที่จะจ้างเพราะเรามีระบบ IoT เข้ามา ลดต้นทุนค่าแรง เพราะแรงงานที่จ้างเข้ามาก็จะเป็นช่างที่คอยดูแลรักษาระบบมากกว่า คนจึงต้องมีคุณภาพมากขึ้นเพื่อตอบรับกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น อย่างไรก็ตามคุณพิเชฐได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าอนาคตของ IoT น่าจะไปได้เร็ว เพราะเราสามารถผลิตชิ้นส่วนของระบบนี้ในประเทศได้ ขาดก็แต่เงินลงทุนเท่านั้นเอง
สาขาซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล CNC (CNC Maintenance) รศ.ดร.บัณฑิต สุขสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (KMUTNB) กล่าวว่า ในการจะไปสู่ Industry 4.0 เครื่องจักรเป็นส่วนสำคัญมาก เราจำเป็นที่ต้องใช้ช่างที่มีฝีมือเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักรเหล่านี้ อย่างในการต่อเชื่อมวงจรไฟฟ้าก็จำเป็นที่ต้องใช้แรงงานคน ช่างก็จะเข้าไปดูว่าปัญหาเกิดจากอะไร หาต้นเหตุของปัญหาแล้วทำการแก้ไข ช่างเหล่านี้ก็จะต้องเขียนโปรแกรมเป็น ซ่อม Mechanic ได้ ในอนาคตช่างเครื่องจักรเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าช่าง CNC ก็มีความจำเป็นต่องานอุตสาหกรรมมากขึ้นเช่นกัน การซ่อมบำรุงเครื่องจักร CNC เป็นการช่วยให้เครื่องจักรทำงานได้ ยังไงเครื่องจักรก็ยังอยู่ภายใต้การทำงานของคน คนต้องเป็นผู้ควบคุมเครื่องจักรเพราะคนเป็นคนสร้างเครื่องจักรขึ้นมา
สำหรับสาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม (Welding) คุณเสกสรรค์ ขาวสัง สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยาได้ให้สัมภาษณ์ถึงความต้องการแรงงานคนกับการเข้ามาของระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ว่า อย่างไรคนก็ยังจำเป็นสำหรับงานเชื่อมอยู่ดี แม้ว่าเราจะมีหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่ด้วยขนาดของหุ่นยนต์ที่ไม่ใช่เล็ก ๆ จึงเป็นเรื่องยากที่จะพึ่งพาแต่เทคโนโลยี งานเชื่อมบางอย่างยังจำเป็นต้องใช้คนอีก พร้อมยังย้ำชัดเจนว่างานเชื่อมยังต้องการคนที่มีทักษะฝีมือแรงงานอยู่อย่างแน่นอน
ในส่วนของสาขาระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม (Industrial Automation) เราได้พูดคุยกับคุณพรพจน์ แพศิริ จากบริษัท ออโต ไดแด็กติก จำกัด และคุณนัครินทร์ คฤหาสน์สุวรรณ นักวิชาการชำนาญการ สำนักพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถึงเรื่องระบบอัตโนมัติและความต้องการแรงงานในประเทศไทย
คุณพรพจน์กล่าวว่า ระบบอุตสาหกรรมในประเทศไทยมี 4 ระดับ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ 2 หรือ 3 เพื่อให้ก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้จึงต้องเร่งพัฒนาให้เข้าสู่ระดับที่ 4 และตอนนี้ประเทศไทยเองก็สามารถผลิตระบบอัตโนมัติได้เองแล้วด้วย เชื่อว่าระบบอัตโนมัติยังเติบโตในไทยได้อีกมากเพื่อที่เราจะได้ตามโลกทัน คุณพรพจน์ยังกล่าวอีกว่า จะเห็นได้ว่าภาคแรงงานบุคลากรไม่เพียงพอ เราจึงได้นำระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนแต่เป็นการนำมาแทนที่สำหรับงานที่ต้องทำซ้ำซาก แต่เรายังต้องการคนอยู่ และต้องเป็นบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูงเพื่อที่จะตอบรับกับระบบอัตโนมัติ จะได้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ฝ่ายคุณนัครินทร์ได้กล่าวถึงการจัดอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และความจำเป็นที่ต้องพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่ขาดแคลน ซึ่งมันไปเร็วมาก เพื่อให้ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ทัน รวมถึงยังอธิบายให้เข้าใจชัดเจนมากขึ้นว่า ยุคอุตสาหกรรม 4.0 คือการรวบรวมระบบทั้งหมดให้มาทำงานด้วยกันผ่านระบบคลาวด์ อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนหลาย ๆ อย่างอีกด้วย
และสุดท้ายเป็นสาขาสาขามาตรวิทยาด้านมิติ (Metrology) ที่ได้คุณพงศ์พันธุ์ ชัยกุล จากบริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่า สาขามาตรวิทยาด้านมิติ ใช้งานอยู่ในเกือบทุกอุตสาหกรรม อยู่ในเรื่องการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีอยู่ในกระบวนการผลิตอยู่แล้ว ปัจจุบันมีการวัดแบบอัตโนมัติที่พอวัดค่าเสร็จก็ทำการบันทึกข้อมูลลงระบบทันที คุณพงศ์พันธุ์เอ่ยถึงเรื่องแรงงานว่า ยังต้องการอยู่เพราะงานด้านนี้ไม่ใช่ใครทำก็ได้ ต้องเป็นคนที่มีทักษะฝีมือในระดับหนึ่ง ไม่อย่างนั้นจะทำงานในสาขานี้ลำบาก การได้บุคลากรที่มีคุณภาพมันต้องเริ่มจากคนสอน จึงมีโครงการอบรมครู 100 คน จาก 100 สถานศึกษาขึ้นมาเพื่อให้นำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่เด็กนักเรียนอีกที โดยมีมาตรฐานจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเกณฑ์
ทั้งนี้ นายวรเศรษฐ์ วิศิษฏานนท์ และนายวัชรวิทย์ ลิ้มทองไพศาล ผู้แข่งขันชนะเลิศรางวัลเหรียญทอง สาขาซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล CNC ได้เปิดเผยกับ M Report ว่า “การซ่อมบำรุงเครื่องจักร CNC เป็นการช่วยให้เครื่องจักรทำงานได้ ยังไงเครื่องจักรก็ยังอยู่ภายใต้การทำงานของคน และคนเป็นผู้ควบคุมเครื่องจักร เนื่องจากคนเป็นผู้สร้างเครื่องจักรขึ้นมา”
และนายธนัช พัฒนพูนผล ผู้เข้าแข่งขันที่ได้รางวัลเหรียญเงินจากการแข่งขันสาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม ได้เปิดเผย ว่า “สาขาช่างเชื่อมไม่ใช่เพียงแค่เชื่อมชิ้นงานเท่านั้น แต่สามารถทำงานอื่นได้หลากหลาย เช่น การเขียนแบบ การตรวจสอบงานเชื่อม ในกรณีที่มีหุ่นยนต์เข้ามาทำงานเชื่อมแทนมนุษย์นั้น ถ้าไม่มีคนหุ่นยนต์ก็ทำไม่ได้เพราะคนเป็นผู้ที่เขียนโปรแกรมสั่งให้หุ่นยนต์ทำ”
จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้วทุก ๆ สาขาของฝีมือแรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเห็นพ้องต้องกันในเรื่องที่แม้ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 มีเทคโนโลยี นวัตกรรมหรือระบบอัตโนมัติเข้ามาในโรงงานอุตสาหกรรมแต่แรงงานคนยังเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่ การเข้ามาของเทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาแทนที่แรงงานคนได้ทั้ง 100% งานนี้จึงตอบโจทย์ต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างถึงที่สุด
การจัดงานแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติได้สิ้นสุดลงและประกาศผลผู้ชนะในวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานปิดงานแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 27 (WorldSkills Thailand 2018)
โดยพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้วได้เผยภายในงานว่าต้องขอแสดงความยินดีกับเยาวชนที่สามารถคว้าชัยชนะจากการแข่งขันครั้งนี้ ชัยชนะของเยาวชนทุกท่านแสดงถึงความพร้อมในด้านทักษะฝีมือ วินัยการฝึกซ้อม และความมุ่งมั่นวิริยะอุตสาหะในการพัฒนาทักษะฝีมือของตน สำหรับเยาวชนที่มิได้รับรางวัลก็มิได้แสดงว่าล้มเหลวในการแข่งขัน เพราะสิ่งได้รับอย่างแน่นอนนอกจากการแข่งขันก็คือประสบการณ์ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อวิชาชีพและการทำงานทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้
“ในการแข่งขันครั้งนี้ เราได้ใช้มาตรฐานของนานาชาติมาเป็นตัวชี้วัด ทำให้ผู้เข้าแข่งขันมีประสบการณ์ กระตุ้นทั้งผู้ประกอบการและเด็กที่ก้าวเข้าสู่การทำงานในอนาคต เพราะเราก็เน้นทักษะในด้านเทคโนโลยีด้วย ซึ่งการนำมาตรฐานของนานาชาติมาใช้ในการแข่งขันในครั้งนี้ก็จะทำให้ผู้ประกอบการมีความตื่นตัวในเรื่องของทักษะต่าง ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และระบบไฟฟ้า ส่วนเรื่องของความกังวลต่อหุ่นยนต์ที่เข้ามานั้น เราก็นำมาใช้ในงานที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายเป็นส่วนใหญ่ แต่ถึงอย่างไรฝีมือมนุษย์ก็จำเป็นอย่างแน่นอน”