“อาลีบาบา” ชูธงลงทุนไทย เปิดแผน 3 โครงการความร่วมมือ

อัปเดตล่าสุด 22 มี.ค. 2561
  • Share :
  • 420 Reads   

รัฐบาลไทยเร่งเครื่องสุดกำลังดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะเดียวกันบรรดานักลงทุนต่างชาติก็ให้ความสนใจ ขณะเดียวกันก็แนะว่ายังมีอะไรอีกหลายอย่างที่รัฐบาลไทยต้องพัฒนา เพื่อให้เกิดความน่าดึงดูดใจในการโปรยเม็ดเงินเพิ่มมากขึ้น

ในเวทีเสวนา “ก้าวใหม่ของไทยจากมุมมองเอกชนต่างชาติ” ในงาน Thailand Taking off to New Heights เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา “แองเจิล เจา” ประธานกลุ่มอาลีบาบา โกลบอลไลเซชั่น ลีดเดอร์ชิป แนะว่า 3 สิ่งสำคัญที่ต้องทำเพื่อดึงนักลงทุน คือ 1.นโยบายการลงทุนที่ดี และยืดหยุ่น เพราะตนมองว่าเมื่อนโยบายมีความยืดหยุ่น ก็จะส่งผลดีต่อการพัฒนา


แองเจิล เจา

นวัตกรรมให้ไร้ขีดจำกัด 2.โครงสร้างพื้นฐานที่ดี และกระจายการพัฒนาดิจิทัลสู่ชนบท 3.ทรัพยากรมนุษย์ ที่พร้อมรับมือโลกเทคโนโลยี

แองเจิลระบุว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการขยายอุตสาหกรรม “อีคอมเมิร์ซ” อีกมาก อานิสงส์จากโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์กว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของอาลีบาบา พบว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะต้องเติบโตโดยมีเครือข่ายโลจิสติกส์ที่ดีรองรับ เพื่อไม่ให้การพัฒนาชะงัก ไทยจึงควรพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศ ขยายโอกาสสู่ชนบทอย่างทั่วถึง ทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และระบบอีเพย์เมนต์ เพื่อให้ชาวไร่ ชาวนา สามารถขายสินค้าเกษตรของพวกเขาผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ได้

นอกจากนี้ อาลีบาบายังเล็งเห็นโอกาสในการร่วมมือกับไทย 3 ส่วนด้วยกัน คือ

1. “go China, go global” การส่งสินค้าไทยขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบา โดยปัจจุบันสินค้าไทยได้รับความนิยมในจีนหลายแบรนด์ เช่น เครื่องสำอาง “มิสทิน” และ “บิวตี้ บุฟเฟต์” เป็นต้น

2. “go Thailand” โปรโมตการท่องเที่ยวไทยผ่านแพลตฟอร์ม “Alitrip” และนำระบบจ่ายเงินไร้เงินสด “Alipay” เข้ามาติดตั้งในร้านค้าในไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวจีน

และความร่วมมือที่ 3. “talent development” เถาเป่ายูนิเวอร์ซิตี้ และอาลีบาบา บิสซิเนส สกูล พร้อมให้การเทรนนิ่งด้านการพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซ ให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทย

ขณะที่ “โซจิ ซากาอิ” ประธานหอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (เจซีซี) ระบุว่า ปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย ปี 2015 การลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นคิดเป็น 36% ของการลงทุนในไทยทั้งหมด มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท โดยปัจจุบัน เจซีซี กรุงเทพฯ มีสมาชิกทั้งหมด 1,769 บริษัท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“เนื่องจากสิทธิประโยชน์การลงทุนที่ได้รับจากรัฐบาลไทยมีความต่อเนื่อง มีซัพพลายเชนและระบบจัดซื้อจัดจ้างต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้ไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี รวมไปถึงความสัมพันธ์ที่ดีและยาวนานระหว่าง 2 ประเทศ” ซากาอิกล่าว

โดยในปี 2018 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เดินหน้าทิศทางใหม่ สนับสนุนให้กลุ่มเอสเอ็มอีในประเทศ ออกมาลงทุนนอกประเทศมากขึ้น และไม่เน้นให้ขยายธุรกิจอย่างเดียว แต่เน้นเรื่องการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) มากขึ้น

ทั้งนี้ เจซีซีมองว่า “อีอีซี” เป็นวิสัยทัศน์ของประเทศไทยที่มีความชัดเจน และเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการจากรัฐบาลไทยก็คือ 1.โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับอย่างสมบูรณ์ 2.ความเชื่อมโยงของโครงการกับอนุภูมิภาค CLMVs และ 3.การเพิ่มความสามารถทรัพยากรมนุษย์ เช่น เพิ่มจำนวนวิศวกรที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงได้

ด้าน “อลัน วิลลิสต์” ประธานบริหาร บริษัท คาร์กิลล์ เอเชีย แปซิฟิก โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้ส่งออกด้านอาหารรายใหญ่ของโลก ทั้งเป็นผู้ส่งออกสัตว์ปีกสำเร็จรูปรายใหญ่ของไทยกว่า 125,000 ตัน/ปี ระบุว่า ประเทศไทยมีความสามารถเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตอุตสาหกรรมอาหารสู่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปัจจุบันเอเชีย-แปซิฟิก ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตลาดอาหารโลก เพราะประชากรโลกกว่า 50% อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้

ทั้งได้แนะไทยว่า นอกจากการลงทุนด้านแรงงานฝีมือ การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาอาหาร ก็ถือเป็นหมากสำคัญในการเดินเกมต่อตลาดอาหารในอนาคต เทคโนโลยีจะช่วยคิดค้นสูตรอาหารใหม่ ๆ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต ที่สำคัญคือการสร้างห่วงโซ่อาหารโลกที่ยั่งยืน พร้อมรับมือการเพิ่มจำนวนประชากรโลกได้