IMF ห่วงศก.ไทยสู่สังคมสูงวัย ชงล้วงเงินสำรองตั้งกองทุน-ลงทุนตปท.

อัปเดตล่าสุด 12 มี.ค. 2561
  • Share :

"สมคิด" รับลูก IMF สั่งแบงก์ชาติหาทางใช้เงินสำรองล้นบัญชีตั้งกองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุ-ลงทุนต่างประเทศ กังขาไทยเงินเฟ้อต่ำ แต่เศรษฐกิจดีขึ้นแจงรัฐบาล "บิ๊กตู่" เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่

"IMF ให้ความสนใจกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุอย่างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ IMF ได้หารือกับกระทรวงการคลังซึ่งกำลังหาแหล่งเงินเพื่อออกมาตรการสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยหารือกับ IMF เรื่องการใช้ประโยชน์ในส่วนเกินของงบเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เพื่อนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น การตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ หรือ การลงทุนในต่างประเทศเพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูง ซึ่ง ธปท.กำลังศึกษาอยู่ ซึ่งการมีเงินสำรองสูง ยิ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น" นายสมคิดกล่าวนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลัง Mr. Markus H. Rodlauer รองผู้อำนวยการกรมเอเชียและแปซิฟิกและคณะผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) เข้าพบว่า IMF เดินทางมาเยือนเพื่อประเมินปัจจัยทางเศรษฐกิจในหลายด้าน ซึ่ง IMF เป็นห่วงไทยในเรื่องการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องการให้นำ capital surplus (สภาพคล่อง) ที่เกิดจากงบเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากถึง 214.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ สัดส่วนร้อยละ 10 ของจีดีพี มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่ง IMF ยินดีที่จะร่วมมือกับกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ IMF แปลกใจว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นแต่ทำไมเงินเฟ้อต่ำ

นายสมคิดกล่าวว่า ฝ่ายไทยได้เล่าถึงสภาพเศรษฐกิจในอดีตและการแก้ปัญหาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมายังไม่น่าพอใจเพราะมีหลายสิ่งที่ต้องแก้ไข เช่น การเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากนโยบายในอดีต รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารเศรษฐกิจสองด้านทั้งเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เป็นหัวใจ ภาคเกษตรวิสาหกิจชุมชนและท่องเที่ยวเพื่อให้เชื่อมโยงกันและแข็งแรง ได้ยกระดับอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ เช่น 10 อุตสาหกรรมใหม่ (S-curve) โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และในอนาคตหัวใจ คือ เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวกระโดดและเพิ่มมูลค่าการผลิต

ดังนั้นไทยจึงต้องการให้ IMF มาสนับสนุนไทยในสิ่งเหล่านี้ จึงชักชวนให้มาทำงานร่วมกันในภาคธนาคารและเป็นคู่คิดกับ ธปท.ในภาคกองทุนและนวัตกรรมการเงิน ซึ่งธนาคารโลก (World Bank) ได้เข้ามาร่วมมือกับกระทรวงการคลังแล้ว ซึ่ง IMF ชื่นชมไทยว่า ได้ทำสิ่งที่ถูกต้องและสามารถขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของ IMF ที่มีต่อไทยที่มีมากขึ้น