เบื้องหลังงานแถลง MPI สศอ. เผยอนาคตเศรษฐกิจไทยผ่านการเติบโตของภาคอุตฯ

อัปเดตล่าสุด 5 ก.พ. 2561
  • Share :
  • 437 Reads   

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2561 นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ให้การตอบคำถามกับสื่อหลังจากเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนธันวาคม 2560 ในเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำรวมไปถึงการเจริญเติบโตของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

Q: การปรับค่าแรงขั้นต่ำ มีผลกระทบต่อ MPI บ้างไหม

“ผมว่าไม่น่าจะเกี่ยวกันนะครับ แต่มันอาจมีส่วนที่เป็นผลกระทบทางอ้อม ถามว่าปริมาณการผลิตลดลงไหม ก็อย่างที่ผมเรียนไป ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลักก็อาจจะมีผลบ้าง แต่เท่าที่วิเคราะห์เบื้องต้นอัตราค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมจะสูงกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นหากถามว่ากระทบไหม ผมว่าไม่มีผลกระทบครับ สิ่งที่น่าจะมีผลกระทบเป็นเรื่องแรงงานในงานการบริการหรือการก่อสร้างมากกว่า”

Q: การปรับค่าแรงขั้นต่ำส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องจักร หุ่นยนต์ เติบโตขึ้นหรือไม่ และหากเติบโตขึ้นจะมีปัญหาการยกเลิกการจ้างงานหรือไม่

“ผมคิดว่ามันไม่ใช่ประเด็นที่ว่าเราจะทดแทนแรงงานด้วยระบบออโตเมชั่นนะครับ ผมว่ามันเป็นเรื่อง Trend ของเศรษฐกิจโลกที่ต้องการเชื่อมโยงระบบการผลิตให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น ถ้าถามว่ามันจำเป็นไหมที่ทุกโรงงานต้องปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ มันก็ต้องปรับอยู่แล้วครับ อย่างเช่น กรณีของประเทศญี่ปุ่น ทางนั้นก็มีแนวทางปรับโรงงานในไทยให้เป็นระบบออโตเมชั่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีระบบที่เรียกว่า Lean Automation เข้ามาเชื่อมต่อ ไม่ใช่แค่ปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรแต่รวมไปถึงปรับปรุงกระบวนการเชื่อมโยง Supply Chain ของเขาด้วย ส่วนเรื่องการเลิกจ้างแรงงาน ผมคิดว่าก็อาจจะมีบ้างแต่คงไม่เยอะ ด้วยระบบออโตเมชั่นที่ทำนั้นเขาก็ทำให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้เครื่องจักรคุยกับเครื่องจักรได้”

Q: อุตสาหกรรมหุ่นยนต์มีโอกาสเติบโตมากขึ้นในอนาคตใช่หรือไม่

“ใช่ครับ มันเป็นยุทธศาสาตร์หนึ่งที่รัฐบาลพยายามผลักดัน เราพยายามเพิ่มระบบ SI รวมไปถึง AI ในอนาคต ซึ่งตอนนี้ทาง TGI กำลังทำเรื่องพวกนี้อยู่ในฐานะที่เป็น CoRE โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่ม SI ในไทยจาก 200 รายให้เป็น 1,200 ราย รวมไปถึงหลักสูตรการเรียนการสอนต่าง ๆ ที่รองรับการขยายตัวในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตครับ”

Q: ปัจจัยเสี่ยงของค่า GDP สำหรับปี 2561 มีอะไรบ้าง

“เท่าที่ดูนะ ปัจจัยแรกคือความผันผวนของเศรษฐกิจโลกครับ ผมคิดว่าเป็นข่าวดีที่ข่าวเกี่ยวกับคาบสมุทรเกาหลีเงียบลง เศรษฐกิจก็ดูเหมือนจะดีขึ้นครับ ในเรื่องของการส่งออกก็น่าจะดีขึ้น ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมเราดีขึ้นครับ แต่สิ่งที่ต้องติดตามก็คือนโยบายของ ‘คุณทรัมป์’ ว่าอะไรที่เกินงบดุลเขา เขาก็ไม่เอา ซึ่งเราต้องติดตามต่อไปครับ ปัญหาความสงบในตะวันออกกลางก็อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงในเรื่องการส่งออกของไทยเราด้วย เรื่องของประเทศในอาเซียนเองก็น่าสนใจ อย่างประเทศเวียดนามที่ออกกฏหมายควบคุมการนำเข้ารถยนต์ซึ่งอาจส่งผลต่อยอดการส่งออกรถยนต์ของไทยได้ เรื่องนี้ทางกระทรวงพานิชย์เองก็กำลังเจรจาอยู่ครับ”

Q: คาดการณ์อย่างไรบ้างกับการเติบโตของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

“เนื่องจากบางอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมใหม่ซึ่งยังไม่มีผู้ประกอบการมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหุ่นยนต์ ออโตเมชั่น เท่าที่ผมทราบเรามีผู้ผลิตภายในประเทศที่ผลิตแขนกลได้เพียง 4 รายเท่านั้น ซึ่งเราก็พยายามผลักดันให้มีมากขึ้น เรื่องของ Aviation ก็เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนมากขึ้น เราเองก็อาจจะทำได้บ้างครับแต่เราก็ผลิตเองได้ไม่มาก เรามีศูนย์ซ่อมบำรุงในสนามบินอู่ตะเพาและให้สิทธิประโยชน์เป็นพิเศษสำหรับดึงดูดให้มีผู้มาลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยานของเราครับ และสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ก็มีผู้มายื่นขอ BOI แล้วจำนวน 8 รายซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการ BOI นั่นแหละครับ ซึ่งหากได้รับการอนุมัติทั้งหมด เราก็คงจะกลายเป็นฐานการผลิตยานยนต์ โดยเฉพาะยานยนต์ในอาเซียน”