เสียงสะท้อนจากภาคการผลิต เอกชนชูนโยบายสนับสนุนประสิทธิภาพการผลิต ชดเชยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

อัปเดตล่าสุด 25 ม.ค. 2561
  • Share :
  • 453 Reads   

จากสกู๊ปข่าว “ฟังจากปาก!! ภาคการผลิตคิดยังไงกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ที่ M report ได้รวบรวมความเห็นจากภาคเอกชน ไทยซัมมิท ออโตโมทีฟ (TSAI), สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย (TDIA), สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai-Subcon), Sodick (Thailand), Unical Works, ไทยสเตนเลสสตีล, เอส.พี. กรุ๊ป (S.P. Group), บริษัท ราชาเมทัลชีทและบริษัทลอยัลแพค นั้นได้แสดงทัศนะไปในทิศทางเดียวกัน

ภาคการผลิตส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำเพียงเล็กน้อยและรับมือได้ โดยให้เหตุผลไปในทางเดียวกันว่าแรงงานในภาคการผลิตส่วนใหญ่นั้นเป็นแรงงานที่มีทักษะ (Skilled Labor) ซึ่งได้รับอัตราค่าจ้างมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้า ภาคเอกชนเห็นตรงกันในเรื่องการปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าจะปรับปรุงด้วยการนำระบบอัตโนมัติ (Automation) และหุ่นยนต์ (Robot) มาใช้ หรือการบริหารจัดการในเรื่องอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงเป็นจังหวะที่ดีในการพิจารณาปรับปรุงประสิทธิภาพโดยใช้ประโยชน์จากนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของทางภาครัฐฯ

สำหรับเสียงจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดย รมช. สมชาย หาญหิรัญ ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจในสองประเด็นที่จะสามารถสะท้อนภาพเศรษฐกิจจากเรื่องนี้ คือ จำนวนอุปสงค์และอุปทานของแรงงานว่ามีมากน้อยเพียงใด และในด้านฝีมือหรือขีดความสามารถของแรงงาน เพราะเชื่อว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้จะดึงดูดให้เด็กรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบของการจ้างงานมากขึ้น