ฟังจากปาก!! ไทยสเตนเลสสตีล และ S.P. Group คิดยังไงกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

อัปเดตล่าสุด 24 ม.ค. 2561
  • Share :


คุณอานนท์ เรืองจรุงพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการบริษัท ไทยสเตนเลสสตีล จำกัด 

“โรงงานของไทยสเตนเลสสตีลตั้งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำใหม่ของจังหวัดนี้อยู่ที่วันละ 325 บาท เพิ่มขึ้น 10 บาท หรือประมาณ 3.25% มองว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อผู้ผลิตมากนัก เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วผู้ประกอบการมีการปรับค่าแรงขึ้นทุกปี หากเทียบค่าแรงที่เพิ่มขึ้นกับค่าวัตถุดิบ จะเห็นได้ว่า ค่าแรงอาจจะขึ้นน้อยกว่าค่าวัตถุดิบบางชนิด ดังนั้น ปัญหาที่มีผลกระทบหลัก ๆ คือ จังหวัดข้างเคียงที่มีค่าแรงไม่เท่ากัน เช่น ฉะเชิงเทรามีค่าแรงสูงกว่าปราจีนบุรี 7 บาท จึงอาจส่งผลให้พนักงานตัดสินใจย้ายงานไปจังหวัดข้างเคียงได้”

นอกจากนี้ คุณอานนท์ยังให้คำแนะนำถึงผู้ประกอบการที่จะคำนึงถึงการลดต้นทุนการผลิต เพื่อควบคุมต้นทุนให้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด รวมทั้งพิจารณาประกอบกับมาตรการส่งเสริมอุตสหกรรมต่าง ๆ ที่ออกมาจากทางภาครัฐ เพื่อช่วยลดต้นทุน เช่น โครงการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในการปรับปรุ่งประสิทธิภาพการผลิตโดยใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์อัตโนมัติ ที่สามารถยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 3 ปี เป็นต้น

 


คุณชาญชัย ตั้งธรรมพูนผล กรรมการผู้จัดการ เอส.พี. กรุ๊ป (S.P. Group)

“การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจจะมีผลกระทบบ้างโดยเฉพาะกับโรงงานที่อยู่ในเขต 3 จังหวัด ภูเก็ต, ชลบุรี, ระยอง ที่อัตราการปรับขึ้นอยู่ในระดับสูงสุดที่ 330 บาท โดย S.P. Group เองก็มีหนึ่งโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตชลบุรี โดยทั่วไปแล้ว S.P. Group มีการปรับขึ้นค่าแรงทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อจึงไม่ค่อยมีผลกระทบ รวมไปถึงบริษัทเองก็มีสวัสดิการอื่นเพิ่มเติม ซึ่งถือว่าได้ให้สวัสดิการแก่พนักงานที่มากกว่าขั้นต่ำของกฎหมายแรงงานอยู่แล้ว สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ บริษัทจึงมีแผนในการรองรับส่วนนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงน่าเป็นบริษัทขนาดเล็กที่ยังใช้แรงงานเป็นหลัก ซึ่งต้องรีบปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และในอีกมุมที่มองเห็นนอกจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภาครัฐเองยังมีนโยบายส่งเสริมสิทธิประโยชน์อีกหลายอย่างที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาพิจารณาร่วมในการกำหนดทิศทาง รวมถึงการเตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะปรับตัว ปรับเปลี่ยนและปรับปรุงการผลิตให้คงความสามารถในการแข่งขันได้”