ฟังจากปาก!! กระทรวงอุตฯ และ Thai-Subcon คิดยังไงกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

อัปเดตล่าสุด 22 ม.ค. 2561
  • Share :
  • 420 Reads   


คุณสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

“ถ้ามองผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ ผมเห็นว่าโรงงานส่วนใหญ่ให้ค่าจ้างเขาเกินค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำไปนานแล้วนะ ในบางแห่งมีการโยกย้ายแรงงานค่อนข้างเยอะซึ่งแต่ละโรงงานก็พยายามสร้าง Intensive โดยดึงคนเก่งหรือคนที่มีประสบการณ์เข้ามา ทำให้ค่าแรงที่ได้รับก็จะเพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้ที่รัฐบาลพยายามเร่งทำคือการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มากที่สุด ซึ่งทางเราก็ได้ทำในบางอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว มีการจ่ายค่าแรงตามฝีมือของแรงงาน บางคนได้ค่าแรงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำถึง 50% ส่วนตัวคิดว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะสะท้อนสองอย่าง อย่างแรกคือจำนวนอุปสงค์และอุปทานของแรงงานว่ามีมากน้อยเพียงใด ขาดแคลนมากน้อยเพียงใด ส่วนอย่างที่สองก็คือเรื่องของฝีมือหรือขีดความสามารถ เพราะเชื่อว่าแรงงานใหม่ๆที่จะเข้าสู่ระบบทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ก็คิดว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้จะทำให้เขาเข้าสู่ระบบของการจ้างงานมากขึ้น”

 


คุณชนาธิป  สุรชัยสิทธิกุล นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai-Subcon)

“กลุ่มรับจ้างช่วงการผลิตจะไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีอัตราค่าจ้างเกินค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องปรับตามก็ได้ แต่หลังจากทางรัฐบาลมีการประกาศอัตราค่าแรงขั้นต่ำออกมา หลาย ๆ บริษัทก็มีการปรับขึ้นค่าแรงตามความเหมาะสม ซึ่งการขึ้นค่าแรงนี้จะรวมไปถึงแรงงานฝีมือที่ได้รับค่าแรงในอัตราที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำด้วย ดังนั้น พนักงานทุกคนก็ได้รับการปรับค่าแรงด้วยเพื่อความเสมอภาค และยังให้ความเห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่นั้นจ่ายค่าแรงที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว เพราะแรงงานในส่วนนี้ล้วนแต่เป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ยกเว้นในส่วนการผลิตที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นกลางและขั้นสูงที่ยังใช้แรงงานทั่ว ๆ ไปในอัตราจ้างที่ค่าแรงขั้นต่ำ ก็อาจมีผลกระทบบ้าง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการสู้ค่าแรง หากผู้ประกอบการรู้สึกว่าสู้ไม่ไหวก็ควรหันมาสนใจการใช้ Automation หรือหันมาโฟกัสในผลิตภัณฑ์ที่จะเพิ่ม Value ได้”