ฟังจากปาก!! ไทยซัมมิท และ แม่พิมพ์ไทย คิดยังไงกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 เรามาดูกันว่าภาคการผลิตมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง ฟังจากปาก ดร.ฉัตรแก้ว Managing Director ของ ไทยซัมมิท ออโตโมทีฟ (TSAI) และคุณวิโรจน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย (TDIA)
ดร.ฉัตรแก้ว ฮาตระวัง Managing Director ของไทยซัมมิท ออโตโมทีฟ (TSAI)
“สำหรับอุตฯยานยนต์ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่เป็น Skilled Labor นั้นได้รับค่าแรงที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว จึงมีแรงงานจำนวนน้อยที่จะบริษัทต้องปรับขึ้นค่าแรงตามประกาศฉบับที่ออกมาใหม่นี้ ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบไม่มากนัก ประกอบกับโครงสร้างต้นทุนนั้น ต้นทุนค่าแรงงานอยู่ที่ 10-15% ของต้นทุนทั้งหมด ดังนั้น ผลกระทบเล็กน้อยนี้สามารถชดเชยด้วยการลดต้นทุนในส่วนอื่นลง เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การบริหารเศษที่เหลือจากการผลิต (scrap) เป็นต้น”
คุณวิโรจน์ ศิริธนาศาสตร์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย (TDIA)
“ในภาคอุตสาหกรรมแม่พิมพ์นั้นไม่กระทบโดยตรง เพราะแรงงานได้รับค่าแรงที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่กังวลว่าจะกระทบภาคการผลิต เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยมานานทำให้ภาคการผลิตไม่เข้มแข็งพอที่จะปรับตัว ประกอบกับเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มจะฟื้นตัว หากภาครัฐชะลอการขึ้นค่าแรงเพื่อดูจังหวะให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ก่อนน่าจะเหมาะสมกว่า ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ (ประเทศไทย) ผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ประกอบเครื่องปรับอากาศเพื่อส่งออก ที่ประกาศปิดงานงดจ้างเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยเหตุของการปรับโครงสร้างเงินเดือนใหม่ที่ทำให้ฐานเงินเดือนเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์ต่อคนลดลงและไม่ได้โบนัส ทำให้ลูกจ้างกว่า 1800 คน เรียกร้องเพื่อขอเจรจาให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ซึ่งสุดท้ายไม่สามารถยุติข้อขัดแย้งได้ ทำให้มิตซูบิชิเองต้องตัดสินใจปิดโรงงาน”