กกร. ประเมินส่งออกปี’ 61 ขยายตัว 6% ขณะที่ศก.ขยายตัว 4% ดีต่อเนื่องจากปี’60 จากการส่งออก-การลงทุนภาครัฐขยายตัว

อัปเดตล่าสุด 6 ธ.ค. 2560
  • Share :

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยกล่าวภายหลังการประชุมว่า การส่งออกในปี 2561 คาดการณ์จะขยายตัวที่ 6% จากปี 2560 ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ 4%

“ส่วนเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2560 ทั้งปียังขยายตัวดีต่อเนื่องประเมินอยู่ในกรอบที่ 3.7-4.0% โดยการส่งออกน่าจะขยายตัวอยู่ที่ 9.0%”

ทั้งนี้ การที่ภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยหรือเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งการเร่งผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2561 น่าจะช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะกระจายตัวมากขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งมีผลการขยายตัวเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้า

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์การเมืองในต่างประเทศ อาทิ ความคืบหน้าของร่างปฏิรูปกฎหมายภาษีของสหรัฐฯ, การสอบสวนกรณีความเชื่อมโยงระหว่างทำเนียบขาวกับรัสเซีย, การจัดตั้งรัฐบาลในเยอรมนี, การเจรจากรณี BREXIT และความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวในตลาดการเงินโลก รวมทั้งทิศทางค่าเงินบาท ให้ยังมีแนวโน้มผันผวนในกรอบที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ขาดแรงหนุนใหม่ๆ ในระยะอันใกล้นี้ โดยที่ประชุม มีความเป็นห่วงว่า เงินบาทที่แข็งค่าเร็วเกินไป อาจจะไม่เป็นผลดีต่อภาคการค้าระหว่างประเทศในระยะต่อไป

ในส่วนของค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือนแตะ 32.55 บาท/เหรียญสหรัฐ ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2560 เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ ถูกกดดันจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับร่างกฎหมายภาษีของสหรัฐฯ รวมทั้งจากการไหลกลับเข้ามาของเงินลงทุนต่างชาติ ซึ่งความเคลื่อนไหวของเงินทุนระยะสั้นดังกล่าว อาจส่งผลกระทบถึงความสามารถในการแข่งขันและการประกอบการของผู้ส่งออกได้ ภาครัฐจึงควรดูแลให้ความเคลื่อนไหวเงินทุนระยะสั้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการให้น้อยที่สุด

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้ SMEs ประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในขณะนี้ได้มีการจัดทำโครงการส่งเสริมการให้ความรู้และการทดลองการนำเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงมาใช้ให้กับ SMEs ทั่วประเทศ จึงอยากให้ SMEs ที่มีการส่งออกและนำเข้าที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ

สำหรับผลการปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นั้น เห็นว่าหลาย ๆ คนเป็นที่ยอมรับของภาคเอกชน เพราะทุกคนมีความรู้ ความสามารถ ซึ่งเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการต่อ คือ มีการสานต่อนโยบายการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้มีความต่อเนื่อง และเป็นไปตามแผนของรัฐบาลที่กำหนดให้นำไปสู่ประเทศ 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายกลินท์กล่าวอีกว่า ภาคเอกชนยังต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญในการเร่งนโยบายดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด อาทิ 1) การแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น 2) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย / กฎระเบียบต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน 3) การเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการลงทุนโครงการเน็ตประชารัฐ

สำหรับในส่วนของการร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ ฉบับแก้ไข จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ในวันที่ 19 ธ.ค. 2560 นั้น ได้มีการมอบหมายให้คณะทำงานฯ นำร่างฯ ฉบับแก้ไขดังกล่าว เพื่อศึกษาและให้ข้อคิดเห็นในเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ทั้งนี้ เพื่อจะนำไปสู่แนวทางในการปฏิบัติตามกฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศต่อไป