พาณิชย์ยันส่งออกไทยเติบโตอย่างเข้มแข็ง ไม่ได้ต่ำกว่าอาเซียนอื่น แต่ต้องเตรียมตัวรับอนาคต

อัปเดตล่าสุด 28 พ.ย. 2560
  • Share :
  • 323 Reads   

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงกรณีที่มีผู้วิจารณ์ว่าการส่งออกของไทยขยายตัวต่ำกว่าของประเทศเพื่อนบ้านว่า การส่งออกไทยในช่วง 10 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 9.7 เกิดจากสาเหตุสำคัญหลายประการ เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวของราคาน้ำมัน แต่อีกปัจจัยที่สาคัญ ที่ไม่ควรมองข้าม คือ ศักยภาพของสินค้าไทยที่ยังแข็งแกร่งและสามารถแข่งขันได้ สะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกของไทยจากการส่งออกรวมของกลุ่มอาเซียนทั้งหมด อยู่ลำดับที่ 2 รองจากสิงคโปร์และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่อยู่ขาขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสามารถกระจายตลาดและประเภทสินค้าส่งออกไปได้อย่างน่าพอใจ โดยดูจากว่า สินค้าส่งออก 50 อันดับแรก มีอัตราการเติบโตเป็นบวกถึง 43 รายการ อีกทั้งยังมีการปรับตัวการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมให้เป็นกลุ่มที่มีเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับประเด็นที่ว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกไทยต่ำกว่าประเทศอื่นในอาเซียน นางสาวพิมพ์ชนกฯ ชี้แจงว่า เป็นเพราะในปี 2559 ประเทศอาเซียนอื่น ยกเว้นเวียดนาม ต่างมีการส่งออกที่ติดลบมาก ในขณะที่ไทยไม่ติดลบ ดังนั้นในปีนี้ที่ดูเหมือนว่าประเทศเหล่านั้นมีการขยายตัวการส่งออกที่สูงกว่าไทย เกิดจากการที่เขาเริ่มจากตัวเลขฐานที่ต่ำกว่าไทยมาก

ทั้งนี้อัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี 2560 เป็นการเทียบกับมูลค่าการส่งออกในช่วงเดียวกันของปี 2559 ซึ่งสถานการณ์การส่งออกของไทยในปี 2559 ดีกว่าประเทศอื่นในอาเซียน (ยกเว้นเวียดนาม) โดยถ้าดูตัวเลขทั้งปี 2559 การส่งออกไทยขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 0.5 ในขณะที่ประเทศอาเซียนอื่นหดตัว โดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ส่งออกติดลบที่ร้อยละ -3.7 -4.8 -2.5 และร้อยละ -2.4 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากปรับฐานการคำนวณของประเทศอาเซียนในปี 2559 ให้มีอัตราการขยายตัวเท่ากับประเทศไทย (ขยายตัวร้อยละ 0.5) จะพบว่า ประเทศเหล่านี้จะมีอัตราการขยายตัวในปี 2560 ต่ำกว่าไทย โดยหลังจากการปรับฐานแล้ว อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ จะมีอัตราการขยายตัวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 เพียงร้อยละ 8.9 5.9 4.8 และร้อยละ 7.6 ซึ่งต่ำกว่าไทยที่ขยายตัวร้อยละ 9.3

นางสาวพิมพ์ชนกฯ ชี้แจงว่า การพิจารณาการส่งออกไทยกับอาเซียน ควรต้องเข้าใจที่มาที่ไปและภูมิหลังของข้อมูลด้วย ไม่ใช่ดูเพียงตัวเลขตามที่บางฝ่ายนำมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ได้ต้องการให้ทุกฝ่ายนิ่งนอนใจ เพราะแม้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงฯ จะได้ปรับแนวทางการสนับสนุนการส่งออก ให้เน้นเป็นยุทธศาสตร์รายประเทศตามนโยบายสร้างหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Strategic Partnership) ของรองนายกรัฐมนตรี (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) และเน้นการเจาะตลาดเพื่อนบ้านและภูมิภาค ลงไปถึงเมืองรองแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากในการยกระดับการส่งออกไทยให้ดีขึ้นไปอีกให้ได้แบบยั่งยืนระยะยาว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ต้องเร่งสร้างมูลค่าเพิ่ม และสินค้าอุตสาหกรรมที่ควรเร่งสนับสนุนการเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ให้เร็วขึ้น เช่น ควรขยายการผลิตสินค้ากลุ่ม Internet of Things (IoT) เพราะเรามีฐานอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่ม IoT มากอยู่แล้ว เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ภายในบ้าน ยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ นโยบายของรัฐบาลก็กำลังผลักดันอยู่อย่างเข้มข้นเป็นเอกภาพ ทั้งนโยบาย Thailand 4.0 นโยบาย EEC และ New S-Curve

นอกจากนี้ ยังมีภาคบริการที่รัฐบาลกำลังจะสร้างให้เข้มแข็งขึ้น ทั้งบริการที่จะสร้างรายได้ สร้างอาชีพสร้างงานให้ประชาชนในประเทศ เช่น ภาคสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว บริการด้านดิจิทัล บริการโลจิสติกส์ และธุรกิจก่อสร้างรวมไปถึงบริการที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น การทำวิจัยและพัฒนา การทดสอบมาตรฐาน การให้คำปรึกษา การซ่อมบำรุง การออกแบบการโฆษณา บริการวิชาชีพต่าง ๆ ทั้งกฎหมาย บัญชี วิศวะ สถาปัตย์ ตกแต่ง และที่สำคัญที่สุดคือ การศึกษา ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีส่วนช่วยให้การพัฒนาประเทศในอนาคต เป็นไปอย่างเข้มแข็งและกระจายลงสูงระดับท้องถิ่นอย่างยั่งยืน