พรวิช ศิลาอ่อน ตั้ง NEA ดันศักยภาพผู้ผลิตไทย
สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (New Economy Academy : NEA) ตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2560 จากแนวคิดที่ต้องการยกระดับด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยการพัฒนาศักยภาพสินค้า การส่งออก ช่องทางการทำตลาดให้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศอย่างยั่งยืน “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นายพรวิช ศิลาอ่อน” ผู้อำนวยการ NEA คนแรก เกี่ยวกับทิศทางของสถาบัน NEA ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายนนี้
Q : ที่มาของสถาบัน NEA
สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) หน่วยงานใหม่ ภายใต้สังกัดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดตั้งสถาบัน NEA ขึ้นและเปิดอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการที่สนใจเป็นครั้งแรกเมื่อปลายเดือนมกราคม 2560 ที่ผ่านมา
โดยวัตถุประสงค์หลัก เพื่อต้องการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ถึงวิธีการทำการค้าขายยุคใหม่ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านดิจิทัล ด้านบริหารจัดการธุรกิจสู่สากล หรือความรู้เบื้องต้นเพื่อการส่งออก ความรู้เฉพาะทาง ความรู้ด้านการตลาดระหว่างประเทศ อีกทั้งเน้นอบรมให้ความรู้เป็นประเภทสินค้า การทำตลาด
ปัจจุบันสถาบัน NEA พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 16,000 ราย พร้อมกับมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมต่อยอดให้ผู้ประกอบการสามารถออกไปทำตลาดได้จริง โดยสถาบัน NEA เปิดรับผู้สนใจเข้าร่วมอบรมทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ ตั้งแต่ที่ยังไม่มีสินค้าไปจนถึงมีสินค้าส่งออกแล้ว สถาบัน NEA พร้อมให้ความรู้อย่างเต็มที่ และเปิดอบรมให้ฟรีทุกหลักสูตร ไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการอบรม โดยเปิดรับผู้สนใจเข้าร่วมหลักสูตรละ 150 คน ยกเว้นบางกรณีที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายบ้าง แต่ไม่แพง เพราะวิสัยทัศน์ของสถาบัน NEA คือ ต้องการให้เป็นองค์กรชั้นนำในการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพสำหรับการแข่งขันในเวทีการค้ายุคใหม่
Q : หลักสูตรที่ NEA เปิดอบรม
ขณะนี้ NEA จัดการอบรมแบ่งเป็น 4 หลักสูตรด้วยกัน เพื่อให้ตรงกับความสนใจของผู้ประกอบการที่ต้องการที่จะพัฒนาตนเอง และสินค้า ได้แก่ 1.หลักสูตร New Economy Amplifier เป็นหลักสูตรสร้างพี่เลี้ยงทางการค้า ผู้ถ่ายทอด และกระจายความรู้ (Trainers) หลักสูตรสร้างพี่เลี้ยงนี้จะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาผู้ประกอบการในด้านการดำเนินธุรกิจและการค้ายุคใหม่ 2.หลักสูตร New Economy Foundation เป็นหลักสูตรสำหรับสร้างคนตัวเล็ก เกิดขึ้นจากที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นทำธุรกิจในชุมชน และอื่น ๆ สามารถต่อยอดสู่การค้าในรูปแบบต่าง ๆ เช่น e-Commerce
3.หลักสูตร New Economy Driver หรือหลักสูตรขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ถือเป็นหลักสูตรที่ปูพื้นฐานและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวการทำการค้าภายในประเทศ และต่อยอดสู่การค้าระหว่างประเทศได้ โดยให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และ 4.หลักสูตร New Economy Connector (Executive) ถือเป็นหลักสูตรสร้างเครือข่ายการค้าสำหรับผู้บริหาร หลักสูตรผู้บริหารที่เราจัดทำขึ้น เพื่อต้องการสร้างเครือข่าย (networking) สำหรับนักธุรกิจและผู้บริหารชั้นแนวหน้าในภาครัฐอื่น ที่ส่งเสริมผู้ประกอบการ
ในแต่ละหลักสูตรทางสถาบัน NEA ยังจัดหาผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาให้ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งจากภายในกระทรวงพาณิชย์ และผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกแต่ละสาขา เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือด้านอื่น ๆ ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ เข้ามาให้ความรู้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นการทำให้ผู้ประกอบการได้เห็นภาพจริงในการพัฒนาตลาด การทำธุรกิจ ที่สำคัญทางสถาบัน NEA ไม่ได้ให้ความรู้เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ยังให้ความรู้ พัฒนา อบรม ผู้ประกอบการในต่างจังหวัด โดยได้มีการเทรนบุคลากรของเราในต่างจังหวัด เช่น พาณิชย์จังหวัด เพื่อสามารถต่อยอดให้ความรู้ หรือคำแนะนำผู้ประกอบการในต่างจังหวัดที่สนใจเข้าอบรมได้ ผ่านช่องทางที่เราทำ อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ให้กับทางสถาบัน NEA
การเปิดอบรมผ่านออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการในต่างจังหวัด เป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงหลักสูตรที่สนใจได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านช่องทางที่เราจัดทำ เช่น ทางเว็บไซต์ของสถาบัน NEA (https://nea.ditp.go.th/th/about-us) ผ่านช่องทางสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ เป็นต้น ซึ่งทางสถาบัน NEA จะอัพโหลดข้อมูลขึ้น ภายหลังการอบรมพัฒนาผู้ประกอบการไปแล้ว หากผู้ประกอบการมีความพร้อม สามารถเข้าร่วมกิจกรรมของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ เช่น การร่วมเจรจาการค้า การแสดงสินค้า เปิดตลาดสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีการจัดขึ้นทุกปี
Q : แผนการจัดการหลักสูตรในปี 2561
ในปีหน้ามีแผนจะขยายหลักสูตรไปในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งหลักสูตรอยู่ระหว่างการจัดทำ คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะมีรายละเอียดออกมา ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของสถาบัน NEA เบื้องต้นเราต้องการจะเจาะกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมอบรม ในระดับผู้บริหารระดับสูง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เจาะลึกเฉพาะกลุ่มธุรกิจ เช่น อัญมณี เนื่องจากต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณี นอกจากนั้นจะเจาะลึกเป็นรายกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจให้มากขึ้น ช่องทางการทำการตลาด การค้า เช่น ในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ ออนไลน์ ซึ่งจะปรับหลักสูตรที่มีอยู่เดิม และเพิ่มเติมหลักสูตรการอบรมใหม่เข้าไป ซึ่งทางสถาบันจะดำเนินการในปี 2561
Q : เป้าหมายผู้ร่วมอบรม การติดตามผล
เป้าหมายผู้ประกอบการที่เข้าร่วมอบรมในปี 2561 น่าจะขยายตัวได้เท่าตัวจากปี 2560 หรือประมาณ 30,000 ราย เนื่องจากได้ปรับหลักสูตรให้ตรงเป้าหมายและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมากขึ้น เพราะเท่าที่ทราบผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความต้องการและทิศทางการพัฒนาสินค้า และการเข้าตลาดที่ต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้อง และตรงเป้าหมายของผู้ประกอบการต้องการพัฒนา และเพิ่มศักยภาพของตนเอง เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมมากกว่าปีที่ผ่านมา
พร้อมกันนี้ทางสถาบัน NEA ยังจัดทำการประเมินผลภายหลังการอบรมของผู้ประกอบการด้วยว่า มีการพัฒนาสินค้า การวางตลาด การส่งออก ได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรแต่ในปีที่ผ่านมาเป็นปีแรก ทางสถาบันยังไม่ได้มีการติดตามประเมินผลอย่างชัดเจน แต่ติดตามข้อมูลเบื้องต้นจากการที่ผู้ประกอบการมาสื่อสารให้ฟัง
แต่ในปี 2561 จะมีการจัดประเมินผลที่ชัดเจน เพื่อจะได้ประเมินผลสำเร็จของผู้ประกอบการ อีกทั้งจะมีการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความพร้อม เพื่อนำเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ทางสถาบัน NEA เชื่อมั่นเลยว่าจะสามารถพัฒนา เพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ ทำการค้า การส่งออกได้
ที่มา : ประชาชาติ
https://www.prachachat.net/economy/news-58122