ความเชื่อมั่น ส.ค.ดีขึ้นในรอบ 4 เดือน แต่ความสุขประชาชนลดลง ห่วงของแพงกระทบค่าครองชีพ

อัปเดตล่าสุด 5 ต.ค. 2560
  • Share :

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2560 พบว่าดัชนีความเชื่้อมั่นทุกรายการปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต เพิ่มจากเดือนกรกฎาคม ที่ 62.2, 69.1 และ 90.4 เป็น 62.4, 69.7 และ 91.5 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต ปรับดีขึ้นจาก 73.9 และ 83.1 เป็น 74.5 และ 84.2 ยกเว้นดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ลดลงจาก 51.7 เป็น 51.6 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

ขณะเดียวกันดัชนีความเหมาะสมการซื้อขายรถยนต์คันใหม่ ดัชนีความเหมาะสมการซื้อบ้านหลังใหม่ ดัชนีความเหมาะสมการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ดัชนีความเหมาะสมการลงทุนทำธุรกิจ ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4-5 เช่นเดียวกับผลสำรวจภาวะทางสังคม เกี่ยวกับความสุขในการดำรงชีวิต ภาวะค่าครองชีพ ปัญหายาเสพติด ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ยกเว้นดัชนีสถานการณ์ทางการเมือง ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 8 เดือน

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ปัจจัยบวกส่งผลต่อความเชื่อมั่นดีขึ้น ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับเพิ่มการขยายตัวของจีดีพีปี 2560 จาก 3.5% เป็น 3.7% การส่งออก 7 เดือนแรกปีนี้ขยายตัว 8.20% คณะรัฐมนตรี (ครม.) คงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ดัชนีตลาดหุ้นสูงขึ้น และค่าเงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยสะท้อนเงินต่างชาติไหลเข้า รวมถึงเริ่มคลายกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศ ขณะที่ปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่น คือ น้ำท่วมในบางพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ ราคาน้ำมันขายปลีกเพิ่มขึ้น ราคาพืชผลเกษตรทรงตัวระดับต่ำ ทั้ง ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ และปัญหาความดขัดแย้งกับเกาหลีเหนือ ที่จะส่งผลลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจในไทย

“ดัชนีปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกรอบ 4 เดือน สะท้อนผู้บริโภคเริ่มกลับมั่นใจการบริโภคสินค้าและบริการ น่าจะมีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นในไตรมาส 4 รวมถึงโครงการสวัสดิการแห่งรัฐจะทำให้เกิดเงินสะพัด 3-4 พันล้านบาทต่อเดือน เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 หมื่นล้านบาท รวมกับการส่งออกและการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้น ลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น ทำให้ศูนย์พยากรณ์ฯปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้จากเดิม 3.6% เป็น 3.7-4.0% อาจมีเรื่องราคาน้ำมันและก๊าซแอลพีจีสูงขึ้น รวมถึงปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต มีผลต่อราคาสุรา บุหรี่ สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าของแพงขึ้น แม้ภาครัฐจะดูแลควบคุมราคาสินค้าจำเป็นไม่ให้สูงขึ้น แต่ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจปัจจุบันยังฟื้นตัวไม่ดี” นายธนวรรธน์กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

https://www.prachachat.net/economy/news-50472