อุปสงค์เครื่องจักรไทย สัญญาณการพัฒนาสู่ยุคอัตโนมัติจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน
ธุรกิจด้านเครื่องจักรเครือญี่ปุ่นในประเทศไทยเริ่มจับสัญญาณได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ โดยอุปสงค์หุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นจากการนำไปใช้ปรับเปลี่ยนการผลิตแบบเดิมให้เป็นแบบอัตโนมัติ สืบเนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงจนนำมาซึ่งการขาดแคลนแรงงาน และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไทยเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ภายใต้มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรม “ไทยแลนด์ 4.0” แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ปริมาณการผลิตรถยนต์ของบริษัทเครือญี่ปุ่นในปี 2017 กลับมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จนทำให้ภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเกิดเครื่องหมายคำถามว่า จะเติบโตต่อไปอีกครั้งหรือไม่ อย่างไร
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ประกาศยกเว้นภาษีให้แก่อุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นเวลา 15 ปี อาทิเช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหุ่นยนต์ เพื่อตอบสนองต่ออัตราการเกิดที่ลดลง และการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุ
โดย Mitsubishi Electric ได้เสนอวิธีการเพิ่มกำลังผลิต ด้วยการรวมระบบหุ่นยนต์และระบบควบคุมการผลิตเข้าด้วยกัน โดย มร.คาวาซากิ ยูทากะ ประธานสาขาได้กล่าวว่า “ความต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนั้นมีมากกว่าความต้องการเพิ่มปริมาณการผลิต” ซึ่งนอกจากบริษัทในเครือญี่ปุ่นแล้ว ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในไทยเองก็ได้ให้ความเห็นไว้ในทิศทางเดียวกัน
Sankyo Manufacturing (Kita-ku, Tokyo) ได้จัดเตรียมชุดอุปกรณ์ขับเคลื่อนทางตรงสำหรับขนส่งวัตถุน้ำหนักมากด้วยความเร็วสูง ผู้อำนวยการฟุคุชิมะ มาซากิ กล่าวว่า “นอกจากความต้องการด้านระบบอัตโนมัติแล้ว อุตสาหกรรมในไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มกำลังการผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ อีกทั้งจำนวนลูกค้าก็มีมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากยอดขายในปี 2017 ที่เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า”
ส่วนทางด้าน Omron นั้น ได้มีการขยายการผลิตไปยังอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพ เนื่องจากมีความต้องการในการตรวจสอบคุณภาพการผลิตแบบอัตโนมัติควบคู่ไปในขั้นตอนการผลิต ซึ่งท่านประธานคิตะอุระ โคเฮย์ ได้ให้ความเห็นว่า “เริ่มจะมองเห็นความหวังขึ้นมาบ้าง หากเทียบกับเมื่อปี 2016 ที่สถานการณ์ทางธุรกิจไม่ค่อยสู้ดีนัก”
ในขณะเดียวกันเอง Japanese Chamber of Commerce and Industry: JCCI คาดการณ์ว่าผู้ผลิตรถยนต์ในเครือญี่ปุ่นของไทยจะมีปริมาณการผลิตในปี 2017 ลดลง 4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีเสียงร้องจากบริษัทจัดซื้อเครื่องมือกลและหุ่นยนต์ให้กับโรงงานรถยนต์ในเครือญี่ปุ่นว่า “ยังไม่มีวี่แววการสั่งซื้อที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์เลย”
อย่างไรก็ตาม ความต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบริษัทในเครือญี่ปุ่นที่มองว่า “ภาพรวมของธุรกิจจะดีขึ้นกว่าปี 2016” ก็มีไม่น้อยเช่นกัน
สภาพตลาดของไทยยังคงซบเซาจากผลกระทบความไม่แน่นอนทางการเมืองและการส่งออกที่ทรุดตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา