กกร.แนะลูกหนี้ SME ติดต่อธนาคารเจ้าหนี้พร้อมดูแลอย่างทั่วถึง
ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นี้ เป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เชิงรุกและตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย พร้อมเปิดเว็บไซด์ “ทางด่วนแก้หนี้” ตลอด 24 ชม. สำหรับประสานงานกับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารเจ้าหนี้
วันอังคารที่ 20 ตุลาคม 2563 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดย นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ร่วมแถลงข่าวโครงการพักชำระหนี้ที่โรงแรมคอนราด เรสซิเดนซ์ กรุงเทพฯ
จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไรวัสโคโรนา (COVID-19) ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ภาครัฐโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หนึ่งในมาตราการที่ออกคือ มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน โดยลูกหนี้ต้องมีคุณสมบัติคือ
1) เป็นหนี้ที่ยังชำระปกติ หรือ ค้างไม่เกิน 90 วัน ณ 31 ธันวาคม 2562
2) วงเงินของทุกบริษัทในกลุ่มที่มีกับสถาบันการเงินเดียวกัน ไม่เกิน 100 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอี สามารถปรับตัวจากผลกระทบและก้าวผ่านวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนี้ไปได้ โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นี้
ตามข้อมูลที่ได้รับจากธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรการพักชำระหนี้นี้ ช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและสมัครใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1.05 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการได้เตรียมพร้อมและปรับตัว เป็นการให้เวลากับธุรกิจของลูกหนี้ ธนาคารเจ้าหนี้ได้มีเวลาในการศึกษาผลกระทบของลูกหนี้แต่ละรายและกำหนดแผนการชำระหนี้ให้เหมาะสอดคล้องกับแผนธุรกิจ กระแสเงินสดภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบเศรษฐกิจที่จะสามารถข้ามผ่านผลกระทบดังกล่าวไปได้
จากข้อมูลล่าสุดที่ได้รับจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ลูกหนี้ที่เข้าข่ายในการเข้าร่วมโครงการสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มที่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการ ซึ่งธนาคารประเทศไทย ประมาณว่ามีถึงร้อยละ 60 กว่า ของยอดหนี้ที่เข้าข่ายในการเข้าร่วมโครงการ
2) กลุ่มที่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งหลังหมดโครงการธนาคารแห่งประเทศไทย จะให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งธนาคารประเทศไทย ประมาณว่ามี ร้อยละ 20 กว่า ของยอดหนี้ที่เข้าข่ายในการเข้าร่วมโครงการ
3) กลุ่มที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ซึ่งหลังหมดโครงการ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้พิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้เป็นรายกรณี ได้อีกไม่เกิน 6 เดือน นับจากสิ้นปี 2563 ซึ่งธนาคารประเทศไทย ประมาณว่ามี ร้อยละ 10 ของยอดหนี้ที่เข้าข่ายในการเข้าร่วมโครงการ
4) กลุ่มที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่ามีประมาณร้อยละ 6 ของยอดหนี้ที่เข้าข่ายที่สามารถเข้าร่วมโครงการ
จากข้อมูลข้างต้นประกอบกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานการณ์จัดชั้นลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2563 สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPL ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงปรับมาตรการจากการขยายการพักชำระหนี้ซึ่งสิ้นสุดลงในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นี้ เป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เชิงรุกและตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย