นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เปิดขายที่ต้นปี”64 เฟสแรกพันไร่ดึงทุนต่างชาติ

นิคมอุดรเปิดขายที่ต้นปี'64 เฟสแรกพันไร่ดึงทุนต่างชาติ

อัปเดตล่าสุด 21 ก.ย. 2563
  • Share :
  • 941 Reads   

นิคมอุดรธานีแห่งแรกในอีสาน พร้อมเปิดเฟสแรกปี”64 ดูดนักลงทุนย้ายฐานจากจีน คาดดึงเม็ดเงินลงทุนแตะ 100,000 ล้านบาท เฟสแรก 1,300 ไร่พร้อมเปิดปี'64 ทั้งโรงงานไซต์เล็ก ศูนย์โลจิสติกส์ เล็งหาพาร์ตเนอร์หรือร่วมทุนผุดโซลาร์ลอยน้ำ ก่อนเดินแผนโรงไฟฟ้าสเต็ปต่อไป

นางอรพิน พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานกรรมการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าในการลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เฟสแรก พื้นที่ 1,300 ไร่ พัฒนาไปแล้ว 50% คาดว่าจะเสร็จและพร้อมเปิดขายและเช่าพื้นที่ ในปี 2564 โดยภายในจะมีพื้นที่สำคัญที่เป็นระบบสาธารณูปโภค พื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมหรือเชิงพาณิชย์ ในส่วนนี้จะมีอย่างอื่นประกอบเข้ามาอีกหลายส่วน เช่น พื้นที่อาคารคลังสินค้าให้เช่า การบริการรับและจ่ายตู้คอนเทนเนอร์ และพื้นที่ไมโครแฟกตอรี่ หรือโรงงานขนาดเล็กสำหรับรายเล็กเพื่อเช่าหรือขาย 100 ไร่

ทั้งนี้ ภาพรวมนิคมทั้งหมดมีพื้นที่ 2,170.63 ไร่ ต.หนองไผ่และหนองนาคำอ.เมือง จ.อุดรธานี ด้วยมูลค่าการลงทุน 20,000 ล้านบาท โดยได้ร่วมลงนามกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มาเป็นเวลา 6 ปี นับจากปี 2557ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในภาคอีสาน

ด้านนายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมมุ่งดึงการลงทุนจากต่างชาติ 100% โดยเฉพาะนักลงทุนจีน 70% และญี่ปุ่น 30% ซึ่งมีแผนการย้ายฐานมาที่ไทย โดยเน้นที่อุตสาหกรรมที่มีวัตถุดิบในภาคอีสาน เช่น ยางพารา โดยขณะนี้มีนักลงทุนจีนสนใจมาตั้งโรงงานแปรรูปยางหลายรายเพื่อผลิตถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ส่วนวัตถุดิบอื่น ๆ อย่างอ้อย และมันสำปะหลัง จะเป็นอีกส่วนที่จะดึงการลงทุนของโรงงานน้ำตาล โรงแป้งมัน เข้ามาได้เช่นกัน ซึ่งช่วงเดือน มี.ค.

ที่ผ่านมา นักลงทุนเตรียมบินมาดูพื้นที่จริง แต่ติดโควิด-19 ทำให้แผนการเดินทางชะงักจนกว่ารัฐบาลจะมีการเปิดประเทศอีกครั้ง คาดว่าหลังเปิดขายพื้นที่ทั้ง 2 เฟส คือ เฟส 1 ประมาณ 1,300 ไร่ ระบบสาธารณูปโภค และเฟส 2 ประมาณ 1,000 ไร่ โรงงานอุตสาหกรรม จะเกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 20,000 คนเกิดการลงทุนพื้นที่ 100,000 ล้านบาท สามารถสร้างรายได้ด้านภาษีอากรให้ภาครัฐ 15,000-20,000 ล้านบาท/ปี

“นิคมอุดรธานีมีความได้เปรียบกว่าคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านหลายด้านไม่เพียงอยู่ใกล้ด่านชายแดน สามารถขนส่งสินค้าผ่านทั้งสะพานมิตรภาพไทย-ลาวจาก จ.หนองคาย ไปเวียงจันทน์ยังมีเส้นทางรถยนต์ (R8 R9 และ R12) ที่เชื่อมระหว่างไทย ลาว เวียดนามตอนเหนือและจีนตอนใต้ แล้วยังห่างจากสนามบินอุดรธานีเพียง 14 กม. ห่างจากท่าเรือน้ำลึก แหลมฉบัง 610 กม.

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนศึกษาโครงการลงทุนโซลาร์ลอยน้ำ 50 ไร่ และในสเต็ปต่อไปจึงจะพิจารณาแผนลงทุนโรงไฟฟ้าอื่น ๆ เพิ่มเติม และเพื่อตอกย้ำความเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (green industry) จึงกำหนดให้โรงงานที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ด้วยเช่นกัน

นายพิสิษฏ์กล่าวว่า ด้วยมุ่งดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ จำเป็นต้องขอให้กนอ. ช่วยประชาสัมพันธ์เพิ่ม ส่วนเราเตรียมแผนการตลาดเบื้องต้นไว้เช่นกันอย่างให้บริษัทที่เป็นตัวแทนดีลกับลูกค้าไม่ให้ขาดการติดต่อ เพราะเราก็กังวล เนื่องจากนักลงทุนบางรายทบทวนการลงทุนใหม่ว่าจะไปที่ไหนดี และเพื่อให้การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีสามารถให้บริการแก่นักลงทุนและจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน จึงได้มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ เช่น การศึกษาท่าเรือบก (dry port) จ.อุดรธานี, พัฒนาระบบการเดินรถไฟจากสถานีหนองตะไก้เข้ามายังพื้นที่โครงการ 1.8 กิโลเมตร รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์พิเศษแก่ผู้ประกอบการในนิคม ให้เทียบเท่ากับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)