“เงินบาท” แข็งโป๊กติดอันดับโลก ผู้ส่งออกฝืด…รายได้สกุลบาทหด

อัปเดตล่าสุด 25 ก.พ. 2562
  • Share :
  • 550 Reads   

กระแสค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงกว่า 1 เดือน ซึ่งล่าสุด วันที่ 20 ก.พ. 62 เงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ 31.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 5 ปี และเป็นที่จับตาว่า ค่าเงินบาทจะมีโอกาสแข็งค่าทะลุ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเร็ว ๆ นี้หรือไม่ ?

มุมมองของ “กอบสิทธิ์ ศิลปชัย” ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากข้อมูลค่าเงินในภูมิภาคตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันพบว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค โดยแข็งค่าราว 4.6% แซงหน้าค่าเงินหยวนของจีนแล้ว ตามด้วยสกุลรูเปียห์ของอินโดนีเซีย, สกุลริงกิตของมาเลเซีย และเปโซของฟิลิปปินส์

โดยแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 1/62 นี้ แม้ว่าใน “ตลาดอนุพันธ์” คาดการณ์ความเป็นไปได้ ราว 45% ที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าหลุดต่ำกว่า 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ แต่ทาง “กสิกรไทย” คาดว่าเงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากผลของฤดูกาลการท่องเที่ยวที่ยังเป็นช่วงไฮซีซั่น ต่อเนื่องถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์เดือน เม.ย. 62 รวมถึงการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ปีนี้คาดอยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท แม้จะลดลงจากปีก่อนที่อยู่ 3.8 หมื่นล้านบาท แต่ถือว่ายังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด นอกจากนี้ ตัวเลขบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศสำหรับบุคคลที่มีถิ่นอยู่ในประเทศ (FCD) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.3 หมื่นล้านบาท มาเป็น 1.6 หมื่นล้านเหรียญ

“ซึ่งหากมีการนำออกมาใช้หรือแปลงเป็นรูปเงินบาท ก็จะทำให้เป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าได้ ขณะเดียวกันแนวนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่น่าจะคลายความเข้มงวดลง โดยคาดว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้เพียง 1 ครั้ง จากปีก่อนที่ปรับขึ้น 4 ครั้ง รวมไปถึงอาจจะหยุดพักการทยอยลดขนาดงบดุล (QT) ไว้ก่อน ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ EM” นายกอบสิทธิ์กล่าว

สำหรับช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ นายกอบสิทธิ์กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทจะมีการปรับฐาน ซึ่งเป็นผลจากโลว์ซีซั่นของภาคท่องเที่ยว และเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการจ่ายเงินปันผล ซึ่งนักลงทุนต่างชาติจะนำเงินกลับประเทศตนเอง


“ปีนี้อาจยังไม่มีข้อมูลครบถ้วนว่าบริษัทจดทะเบียนจะจ่ายปันผลเท่าไร แต่ปีที่แล้วมีการจ่ายเงินปันผลไปจำนวน 8.7 หมื่นล้านบาท ประกอบกับอาจจะมีผู้ที่ถือเงินบาทในบัญชีผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ (nonresident-baht) มีการขายเงินออกมาเพื่อลดความเสี่ยง อย่างไรก็ดี คาดว่าไตรมาส 2/62 เงินบาทจะอ่อนค่าลงไปถึง 1-2%”

ส่วนผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อการขยายตัวของการส่งออกทั่วโลกนั้น “กอบสิทธิ์” มองว่า จากปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) รวมถึงแนวโน้มการถดถอยของเศรษฐกิจโลก พบว่า มีความเป็นไปได้ที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะถดถอยเพิ่มมากขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 18% จากเดิมที่อยู่ 12% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อภาคการส่งออกทั่วโลก

โดยปัจจุบัน ส่วนแบ่งทางการตลาดการส่งออกของไทยอยู่ที่ 1.5% ของภาคส่งออกทั่วโลก ลดลงมาจากระดับ 1.54% เมื่อปีที่แล้ว ทำให้อาจกระทบกับผู้ส่งออกในด้านสภาพคล่องทางการเงินที่ค่อย ๆ หายไป ซึ่งสร้างแรงกดดันให้ผู้ประกอบการที่มีรายได้ในรูปแบบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐค่อนข้างมาก

“มูลค่าสินค้าที่ลดลงจากเงินบาทที่แข็งค่า อาจส่งผลต่อสภาพคล่องที่ลดลง เนื่องจากต้นทุนยังคงเดิม ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องระมัดระวังในด้านนี้ด้วย” นายกอบสิทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม กสิกรไทยยังคงประมาณการทั้งเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ที่ 4% และการส่งออก 4.5% เนื่องจากเร็วเกินไปที่จะปรับประมาณการ เพราะต้องติดตามปัจจัยต่างประเทศ และคงต้องรอใกล้ ๆ ช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเห็นภาพชัดเจน หลังการเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่จะมีทิศทางนโยบายต่าง ๆ อย่างไร เช่นเดียวกับการคงคาดการณ์ค่าเงินบาทสิ้นปีนี้อยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ ธสน. (EXIM BANK) ระบุว่าชั่วโมงนี้ประเด็นร้อน “ค่าเงินบาท” ล่าสุด ปรับตัวแข็งค่าอย่างรวดเร็วจนลงมาแตะ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 5 ปี ส่งผลให้เงินบาทกลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในโลกหากนับตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา

“เงินบาทที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลโดยตรงจากการที่ประเทศไทยมีกิจกรรมเศรษฐกิจด้านต่างประเทศที่ยืดหยุ่น และเป็นผลพลอยได้จากการที่เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศ จึงเป็นเป้าหมายของการเป็นที่พักเงินในยามที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง แต่ไม่ว่าเงินบาทแข็งค่าจะเกิดจากสาเหตุใด ถือว่าเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก และคาดว่ายังมีแนวโน้มผันผวนตลอดทั้งปี ดังนั้น ผู้ส่งออกไม่ควรเก็งกำไรค่าเงินในทุกกรณี”

โดยฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธสน. ผลักดันให้ผู้ส่งออกควรหันมาใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ควรใช้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าในการนำเข้า หรือพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของตน รวมถึงการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนในอนาคต

ขณะที่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดเผยแพร่วันที่ 20 ก.พ. 62 ที่ผ่านมา การแข็งค่าของเงินบาทไทย เนื่องมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงเป็นสำคัญ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นทิศทางเดียวกับสกุลเงินของกลุ่มตลาดเกิดใหม่และภูมิภาค สำหรับดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้น เนื่องจากไทยมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่เข้มแข็งส่วนหนึ่ง สะท้อนจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่อง

“แม้ความผันผวนตลาดการเงินโลกลดลงในระยะสั้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนในระยะยาว โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจขยายตัวชะลอลง และผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐและจีน” รายงาน กนง.ระบุ

ล่าสุด (22 ก.พ.) เงินบาทกลับข้างมาอ่อนค่าอยู่บริเวณ 31.22/20 บาท โดยลุ้นผลเจรจาของสหรัฐ-จีน ปลายเดือน ก.พ. นี้คงต้องจับตาดูว่าจะส่งผลต่อดอลลาร์ทิศทางใด