113-scg-scgp-ธุรกิจแพคเกจจิ้ง-หุ้น-ipo

บอร์ด SCC ไฟเขียวแผนขายไอพีโอ SCGP ไม่เกิน 30% ทุนจดทะเบียน หวังขยายธุรกิจ

อัปเดตล่าสุด 30 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 1,194 Reads   

SCC แจ้งตลาดหลังบอร์ดไฟเขียวแผนนำ “เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” (SCGP) เสนอขายหุ้น IPO หวังใช้ขยายธุรกิจ-ปรับโครงสร้างการเงิน-เป็นทุนหมุนเวียนกิจการ

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ (SCC) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ (SCGP) และอนุมัติการนำหุ้นสามัญของ SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยกำหนดสัดส่วนจำนวนหุ้นที่จะเสนอขาย IPO จำนวนไม่เกิน 30% ของทุนชำระแล้วของ SCGP ภายหลังการเพิ่มทุน

ทั้งนี้ SCGP จะนำเงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้น IPO ไปใช้ลงทุนในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ และใช้ในการปรับโครงสร้างทางการเงิน รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของ SCGP

ขณะที่ SCC จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้มีอำนาจควบคุมของ SCGP โดยที่ SCGP จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทเช่นเดิม โดยบริษัทจะยังคงสัดส่วนการถือหุ้นใน SCGP สัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70% ของทุนชำระแล้วของ SCGP ภายหลังการเพิ่มทุน

โดย ณ วันที่ 28 ต.ค.62 บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ (SCGP) มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 1,563,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 156,300,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท โดยสัดส่วนการถือหุ้นของ SCC ใน SCGP คิดเป็น 99.04% ขณะที่ผลประกอบการของ SCGP ในช่วงปี 2559-2561 มีรายได้อยูที่ 74,542 ล้านบาท, 81,455 ล้านบาท, 87,255 ล้านบาท (ตามลำดับ) ขณะที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,851 ล้านบาท, 5,374 ล้านบาท, 6,826 ล้านบาท (ตามลำดับ)

ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.62) มีรายได้อยู่ที่ 41,529 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนมีรายได้อยู่ที่ 43,773 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,884 ล้านบาท เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,362 ล้านบาท

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “เราเล็งเห็นว่าธุรกิจแพคเกจจิ้งมีศักยภาพที่โดดเด่น และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีอัตราการบริโภคและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะสำหรับบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าที่ซื้อขายผ่านช่องทาง E-commerce โดยเฉพาะในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่สูงและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อย่างมากและต่อเนื่องในอนาคต โดยในปี 2561 ตลาดแพคเกจจิ้งในอาเซียนมีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์

ดังนั้น เพื่อให้สามารถเร่งสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพการเติบโตของธุรกิจแพคเกจจิ้งในภูมิภาค ทั้งในด้านฐานการผลิตและการตลาดให้ตอบสนองกับความต้องการในตลาดได้ดีมากยิ่งขึ้น บริษัทจึงได้อนุมัติแผน SCGP เข้าตลาดหุ้น

โดยธุรกิจแพคเกจจิ้งของเราจะยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาจุดแข็งและสร้างโอกาสทั้งในด้านนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีวัสดุหลากหลายประเภท (Multi-materials) ทั้งกระดาษและพอลิเมอร์ พร้อมการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated packaging solutions provider) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ผ่านการเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำระดับโลก และการควบรวมหรือการซื้อกิจการ (Merger & Acquisition: M&A) ในภูมิภาคอาเซียนที่มีศักยภาพการเติบโต

โดยในปี 2562 ได้มีการเข้าซื้อ PT Fajar Surya Wisesa Tbk. ในอินโดนีเซีย และบริษัท วีซี่ แพ็คเกจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในไทย ตลอดจนการมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่และความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ทั้งในไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียนในอนาคต ให้สามารถช่วยเสริมประสิทธิภาพการผลิตที่ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีอยู่ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าชั้นนำระดับสากลได้อย่างครอบคลุมและครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำต่อไป”