สรท.วิตกปัญหาต้นทุนขนส่งฉุดการฟื้นตัวส่งออกไทย-จับตาเลือกตั้งสหรัฐ

สรท.วิตกปัญหาต้นทุนขนส่งฉุดการฟื้นตัวส่งออกไทย-จับตาเลือกตั้งสหรัฐ

อัปเดตล่าสุด 7 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 449 Reads   

สรท.ปรับประมาณการส่งออกอยู่ในกรอบ ติดลบ 8-10% จากการฟื้นตัวของการส่งออก ส่งผลให้ต้นทุนขนส่งสูงขึ้น การแข่งขันมากขึ้น วอนหน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลแก้ไขอย่างใกล้ชิด ขณะที่ “ทรัมป์” ติดโควิด มองมีผลต่อการหาเสียง ย้ำต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 ติดลบ 8-10% จากเดิมที่คาดว่าติดลบ 10% เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เห็นได้จากยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกสินค้าทั่วโลกที่ขยายตัว มีการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากลุ่มที่มีศักยภาพ อาทิ สินค้าอาหาร สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานที่บ้าน และสินค้าเพื่อการป้องกันการระบาดของโรค ถุงมือยาง และจากปัจจัยนี้มีส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น การแข่งขันเพิ่มขึ้นโดยต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไข

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1.กำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลกที่ยังมีความอ่อนแอ เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่ตกต่ำในปัจจุบัน กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคหดตัว สะท้อนการหดตัวของการส่งออกในทุกกลุ่มสินค้า โดยจะเน้นการใช้จ่ายกับสินค้าที่จำเป็นและราคาไม่สูงมากนัก

2.ค่าเงินบาทที่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากผลของการซื้อสุทธิในตลาดทุนประเทศไทย และการอ่อนค่าโดยเปรียบเทียบของค่าเงินดอลลาร์ต่อค่าเงินบาท อันเนื่องมาจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐและตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีแนวโน้มยังไม่ดีเท่าที่ควร

3.International logistics 3.1) ค่าระวางสูง โดยเฉพาะในเส้นทางทรานส์แปซิฟิกและเส้นทางออสเตรเลีย อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากหลายสายเรือเริ่มมี space ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถรับ booking ได้และต้องมีการปิดรับชั่วคราว อาทิ ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกา 3.2) การขาดแคลนตู้บรรจุสินค้า อันเนื่องมาจากจำนวนตู้บรรจุสินค้านำเข้าและตู้เปล่านำเข้าที่ลดลง ประกอบกับนโยบายบริษัทแม่ของสายเรือที่ให้ทำ Repositioning ตู้ไปยังประเทศจีนเป็นจำนวนมาก และตู้ตกที่ค้างที่สิงคโปร์ซึ่งเป็น Transshipment Hub สำคัญ

3.3) ระวางสินค้าที่ไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ของผู้ประกอบการ เนื่องด้วยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศจีน ทำให้การจัด space allocation จากสายเรือไปยังจีนค่อนข้างมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยได้รับ space allocation ไม่เพียงพอ

3.4) ระดับราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ระดับต่ำปีกว่าปี 2562 อันเนื่องมาจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการชะลอของอุปสงค์การใช้น้ำมันทั่วโลก ทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ พลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูปยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

4. ปัญหาภัยแล้ง แม้ระดับความรุนแรงของภัยแล้งจะเริ่มลดลง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากเขื่อนสำคัญของประเทศไทย อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ รวมถึงเขื่อนบางพระทางตะวันออก ซึ่งมีความสำคัญต่อการผลิตในด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมยังมีปริมาณน้ำการได้จริงในระดับต่ำ

และ 5.ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว เนื่องด้วยแรงงานต่างด้าวยังไม่สามารถเข้ามาประเทศไทยได้ ทำให้กระทบต่อภาคการผลิตและการฟื้นตัวของภาคส่งออกและอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี สรท. มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการส่งออก เช่น 1.รักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ หรือไม่แข็งค่ากว่าสกุลอื่นในระดับภูมิภาค 2.แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวไม่เพียงพอ ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ ขอให้รัฐควรสนับสนุนงบประมาณหรือมาตรการอื่นๆ เพื่อทดแทนแรงงาน สนับสนุนโครงการรับนักศึกษาฝึกงาน รัฐช่วยจ่าย ครึ่งหนึ่ง ควรช่วยเพิ่มกิจกรรม matching แรงงานในประเทศที่ว่างงานกับอุตสาหกรรมที่มีความต้องการต่อเนื่อง เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานในระยะสั้น

3.เร่งแก้ไขปัญหาการปรับเพิ่มของอัตราค่าระวางและค่าบริการภายในประเทศ (Local Charge) เสนอให้ค่าบริการภายในประเทศ (Local Charges) ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศเป็นบริการควบคุม โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และหากสายเรือจะประกาศค่าบริการเพิ่มเติม ให้มีการหารือ 3 ฝ่ายก่อนการปรับขึ้นทุกครั้ง กำหนดหลักเกณฑ์ ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของราคา และสามารถเรียกให้ผู้ให้บริการแสดงข้อมูล ในกรณีที่มีการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ

4.ปัญหาปริมาณระวางเรือและตู้บรรจุสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขอให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ใช้อำนาจตาม มาตรา 52 และ 54 ของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เพื่อมิให้มีการจํากัดปริมาณของสินค้าหรือบริการที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะผลิต ซื้อ จําหน่าย หรือบริการตามที่ตกลงกัน หรือมาตรา 55 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นกระทําการใดๆ อันเป็น การผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจํากัดการแข่งขันในตลาดใดตลาดหนึ่งในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด และใช้อำนาจตามมาตรา 55 (2) ลดคุณภาพของสินค้าหรือบริการให้ต่ำลงกว่าที่เคยผลิตจําหน่ายหรือให้บริการ เข้ามากำกับดูแล การกำหนดปริมาณระวางเรือและการจัดสรรตู้สินค้าให้กับประเทศไทย

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สำหรับกรณี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ติดไวรัสโควิด-19 ภาคเอกชนมองว่าอาจจะมีปัญหาในส่วนของเรื่องของการพบปะประชาชนในช่วงที่ต้องมีการหาเสียง ซึ่งอาจจะต้องใช้กลยุทธ์การหาเสียงผ่านออนไลน์ได้ แต่หากการติดเชื้อไวรัสไม่ได้รุนแรงหรือไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ ก็มองว่าการปฏิบัติหน้าที่ยังคงเดินหน้าตามนโยบายเดิมอยู่ ซึ่งก็ยังต้องติดตาม

แต่สำหรับทิศทางการเลือกตั้งซึ่งมี นายโจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จากพรรคเดโมแครต นั้นซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องของการค้าเสรี สำหรับทิศทางของคะแนนเสียงตอนนี้ทาง นายโจ ไบเดน มีคะแนนเสียงไปในทิศทางที่ดี ซึ่งในเดือนหน้าจะเห็นภาพชัดเจนสำหรับแนวโน้มการเลือกตั้งสหรัฐก็ต้องติดตามต่อไป

 

อ่านต่อ: