112-ธุรกิจ-ธนาคารกรุงไทย-ผลประกอบการ-SME

“ผยง” เคลียร์ปมกำไรกรุงไทยวูบ ยืนเป้าลด NPL ต่ำกว่าแสนล้าน

อัปเดตล่าสุด 30 ต.ค. 2562
  • Share :

สัมภาษณ์
 
กลุ่มธนาคารพาณิชย์เพิ่งประกาศผลประกอบการช่วงงบฯไตรมาส 3 ปี 2562 ไปหมาด ๆ โดยภาพรวมถือว่ากำไรของแบงก์ใหญ่ยังสามารถประคองตัวได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY)

อย่างไรก็ตาม กำไรของธนาคารกรุงไทย (KTB) พบว่า ทั้งกำไรเฉพาะในไตรมาส 3 และกำไรช่วง 9 เดือนแรก ปรับลดลง 18.92% และ 1.25% ตามลำดับ

สำหรับเหตุผลเบื้องลึกเป็นเพราะอะไรนั้น “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงเรื่องดังกล่าว รวมถึงการดำเนินงานอื่น ๆ ของแบงก์ด้วย

3 ปมค่าใช้จ่ายพุ่ง-รายได้หาย

โดยเขาบอกว่า แนวโน้มผลประกอบการของกรุงไทยโดยรวมดีขึ้น เพียงแต่ในไตรมาส 3 แบงก์มีค่าใช้จ่ายครั้งเดียวอยู่ 2-3 รายการ ได้แก่ 1.ค่าใช้จ่ายสำรองผลประโยชน์พนักงานที่ปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้ได้รับเงินตอบแทนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจที่มีผลบังคับใช้ในไตรมาสนี้จำนวน 2,374 ล้านบาท ที่ธนาคารไม่ได้ตั้งมาก่อนหน้านี้

2.เรื่องของทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ที่ค้างนาน โดยอายุ 10 ปี มีมูลค่าเกือบ 40,000 ล้านบาท ซึ่งในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ทำให้ไม่สามารถเร่งขายได้เพราะไม่ต้องการขายของดีในราคาถูก และ 3.การบันทึกรายได้จากการขายทอดตลาดที่ดิน 4,300 ไร่ ของ บมจ.เอคิว เอสเตท (AQ) ที่บันทึกเข้ามาเพียงครึ่งเดียวเนื่องจากยังติดกระบวนการซักค้านกันอยู่ในชั้นศาล

“คาดว่ารายได้ของ AQ อีกครึ่งหนึ่งอาจจะไม่ทันบันทึกในปี 2562 เนื่องจากมีเรื่องของกระบวนการศาล และกระบวนการของกรมบังคับคดีที่จะต้องดำเนินไปตามกลไก เราไม่สามารถไปทำอะไรพิเศษเพิ่มเติมได้”

คงเป้าลดหนี้เสีย-NPA ขายยาก

ส่วนของแนวโน้มการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่อยู่ที่ 6,098 ล้านบาท ในไตรมาส 3 หรือเพิ่มขึ้น 9.6% จากไตรมาสก่อนหน้านั้น “ผยง” ชี้แจงว่า หากดูตัวเลขการตั้งสำรองหนี้สูญ (credit cost) ต่อการก่อตัวขึ้นใหม่ของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) (NPL formation) ถือว่าปรับตัวดีขึ้น โดยภาพรวมหากไม่นับรวมกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่ยังทรงตัวมากที่สุด (flat) จะเห็นได้ว่าลูกค้าเซ็กเมนต์อื่น ๆ ของแบงก์มีการเติบโตดีขึ้น

“ดังนั้น หากตัดพวกค่าใช้จ่ายครั้งเดียวออกไป จะเห็นว่างบฯของกรุงไทยดูดีเลยทีเดียว การตั้งสำรองก็น้อยลง จากการที่เราเข้มงวดในการตั้งสำรองในก่อนหน้านี้เป็นเวลาถึง 2 ปี ขณะที่มูลค่าของสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL gross) ที่ยังเติบโตเหนือ 100,000 ล้านบาท ปีนี้ก็จะพยายามให้เป็นไปตามเป้าที่เคยตั้งไว้ว่าจะลดให้ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทให้ได้ ซึ่งในช่วงไตรมาส 4 จะไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษที่กล่าวมาแล้ว อาจจะมีเพียง NPA ค้างนานที่ต้องตั้งสำรองเพิ่มอีกเล็กน้อย เราคาดว่าตั้งแต่ต้นปีหน้า (2563) เป็นต้นไป NPA ของแบงก์น่าจะขายได้ โดยบางส่วนเราก็เลือกเก็บไว้บริหาร และบางส่วนก็ตัดขายไป ในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจจะพักไว้ก่อนด้วยภาวะเศรษฐกิจ หากขายออกไปตอนนี้แล้วได้ราคาถูกเราก็ไม่ขาย”

ระมัดระวังตัดขาย NPL

สำหรับแนวทางแก้ไข NPL ที่ยังอยู่ที่ 107,438 ล้านบาทนั้น “ผยง” บอกว่า จะต้องดูราคาเพราะไม่สามารถขายเหมาเข่งทั้งพอร์ตได้ แต่เดิมแบงก์กรุงไทยก็มีขายน้อยมาก เพราะต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจจะต้องโดนตรวจสอบเข้มข้น ขณะที่แบงก์พาณิชย์อื่น ๆ อาจจะใช้วิธีตัดหนี้เสียขายได้มากกว่า

สินเชื่อรวมส่อต่ำเป้า 5%

ส่วนแนวโน้มสินเชื่อในปี 2562 นี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แบงก์กรุงไทย ยอมรับว่า สินเชื่อรวมปีนี้อาจจะโตไม่ถึงที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5% แม้ว่าที่ผ่านมาจะเติบโตได้ค่อนข้างดี โดยช่วง 9 เดือนแรกสินเชื่อรวมของแบงก์กรุงไทยเติบโต 5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ทั้งสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อภาครัฐ

“สินเชื่อของเราเติบโตเยอะก็จริง แต่เยอะในเชิงเปรียบเทียบ YOY แต่ไม่ถึงเป้า 5% ที่เราเคยตั้งเอาไว้ หรือเรียกได้ว่า ไม่ได้มาจากการเติบโตที่แท้จริง (absolute) และบางส่วนที่แบงก์ของเราไม่ได้เติบโตอย่างพอร์ตสินเชื่อรถยนต์ที่ปกติจะเติบโตเยอะ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้สินเชื่อรถยนต์ก็ยังไม่กลับมา รวมถึงพอร์ตบัตรเครดิตของเราก็ไปอยู่ที่ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) จึงไม่เห็นการเติบโตจาก 2 ส่วนนี้”

ต้องรอดูต่อไปว่า อีก 1 ไตรมาสที่เหลือแบงก์กรุงไทยจะทำผลงานปีนี้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้แค่ไหน
………………

สินเชื่อ SMEs โตต่ำเป้า-แห่ปรับโครงสร้างหนี้

ส่วนพอร์ตสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของธนาคารกรุงไทย ณ สิ้นไตรมาส 3 (30 ก.ย. 62) อยู่ที่ 329,062 ล้านบาท หดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1% อย่างไรก็ดี

ธนาคารยังขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีต่อเนื่อง ล่าสุดมีแคมเปญ “กรุงไทย SME เคียงข้างธุรกิจคุณ” ร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งจะมีโปรดักต์สินเชื่อ SMEs 10 ประเภท อัตราดอกเบี้ยพิเศษเริ่มต้นที่ 4% ต่อปี และสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษ 1 ประเภท วงเงินปล่อยกู้รวม 50,000 ล้านบาท ยกเว้นค่าธรรมเนียมประกันสินเชื่อ 4 ปีแรก เปิดยื่นขอสินเชื่อถึง 30 ธ.ค. 2563

โดย “วีระพงศ์ ศุภเศรษฐ์ศักดิ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB กล่าวว่า สินเชื่อเอสเอ็มอีของแบงก์ในปี 2562 น่าจะโตต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 4% โดยในไตรมาส 4 ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจยังมีปัจจัยผันผวนและความไม่แน่นอน ซึ่งคาดว่าปีนี้สินเชื่อเอสเอ็มอีจะโตเพียง 2.8%

“ขณะนี้สินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดกลางที่ใช้วงเงินกู้ 20-100 ล้านบาท ขยายตัว 2% ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ที่ใช้วงเงินกู้มากกว่า 100 ล้านบาท ทรงตัว อย่างไรก็ดี ในปีนี้ ธนาคารได้ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ประมาณ 3% เนื่องจากจะได้รับแรงหนุนจากการลงทุนและการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐ”

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อเอสเอ็มอี ปัจจุบันอยู่ที่ 2.1% และคาดว่าถึงสิ้นปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าระบบที่อยู่ที่ 4-6% โดยสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัว มีลูกค้าเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารมากขึ้น ประมาณ 1,000 ราย ซึ่งยังไม่ถึง 10% ของพอร์ตเอสเอ็มอีทั้งหมด