108-GSP-การค้า-การส่งออก-สหรัฐ

พาณิชย์มั่นใจ! สหรัฐฯ ตัด GSP ไทยบางรายการ ยันมีสินค้าอื่นที่ส่งออกได้ดีทดแทน

อัปเดตล่าสุด 29 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 565 Reads   

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศจะตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรทางการค้า (GSP) ที่เคยให้ไทยบางรายการเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ว่า การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบคิดเป็นประมาณ 0.01% ของการส่งออกรวมของไทยเฉลี่ยรายปี แต่จะมีสินค้าบางรายการที่ใช้สิทธิมากที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่ารายการอื่น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 สหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิ GSP ประเทศไทย (Country Review) 573 รายการ (40% จากจำนวนสินค้าที่ไทยใช้สิทธิในปี 61 รวม 1,485 รายการ) มีผลบังคับใช้ 25 เมษายน 2563 และมีการคืนสิทธิให้ไทย 7 รายการ เมื่อปี 2561 ไทยมีการใช้สิทธิ GSP เพียง 355 รายการ (จาก 573 รายการ) มูลค่า 1,279.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการใช้สิทธิเฉลี่ย 66.7% อาทิ อาหารทะเลแปรรูป พาสต้า ถั่วชนิดต่าง ๆ แยมผลไม้ น้ำผลไม้ ซอสถั่วเหลือง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องครัวและของใช้ในบ้าน มอเตอร์ไฟฟ้า เหล็กแผ่นและสเตนเลส เครื่องดนตรี และอุปกรณ์ตกปลา

ทั้งนี้ การถูกตัดสิทธิ GSP ทำให้ต้นทุนส่งออกไทยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 50.33 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากสินค้าไทยกลุ่มนี้จะถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 4.5% (อ้างอิงจากอัตรา MFN rate ของสหรัฐฯ ปี 2561) อย่างไรก็ดี ทางสนค. ประเมินว่า การถูกตัดสิทธิ GSP ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างจำกัด อัตราภาษีที่สูงขึ้นอาจทำให้มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ สำหรับสินค้ากลุ่มที่โดนตัดสิทธิในปี 2563 (เมื่อมาตรการมีผลบังคับใช้) ลดลงมูลค่า 28.8 – 32.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.01% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย

นอกจากนี้ การส่งออกไทยที่มีจุดเด่นในการกระจายตัวของสินค้ากลุ่มใหม่ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอนาคต อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน จะยังช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในตลาดสหรัฐฯ ต่อไปได้ แต่การถูกตัด GSP ทำให้ความได้เปรียบด้านต้นทุนภาษีหมดไป และไทยจะเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้น การรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ส่งออกควรกระชับสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการส่งเสริมการส่งออกและการตลาดเชิงรุก เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด

กลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด (มีการพึ่งพาสิทธิ GSP มากกว่า 50% และส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่า 10%) ได้แก่ คอนโซล โต๊ะและฐานรองอื่น ๆ ที่ติดตั้งด้วยเครื่องอุปกรณ์ (HS8537) รถจักรยานยนต์ (HS8711) แว่นสายตาหรือแว่นกันลม/กันฝุ่น (HS9004) หลอดหรือท่ออ่อนทำจากยางวัลแคไนซ์ (HS4009) อ่างล้างหน้า (HS6910) เครื่องสูบของเหลว (HS8413) สารเคลือบผิว Epoxy Resin (HS3907) เครื่องสูบลมหรือสูบสูญญากาศ (HS8414) อาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืช (HS1904) ยางนอกชนิดอัดลม (HS4011) หากไทยสามารถกระจายความเสี่ยงส่งออกสินค้าที่ถูกตัดสิทธิไปยังตลาดอื่น ๆ ได้ จะช่วยลดผลกระทบต่อการส่งออกไทยได้