FTI chairman Supant Mongkolsuthree reveals to propose a plan recovering Thai economy after COVID

“สุพันธุ์” ชงประเด็นร้อนแก้ศก. เตรียมเสนอศบศ.-เชียร์กู้เพิ่ม1ล้านล้าน

อัปเดตล่าสุด 14 ก.ย. 2563
  • Share :

“สุพันธุ์” ประธาน ส.อ.ท.พ้อ ประชุม ศบศ. 2 นัด รัฐบาลไม่ฟังข้อเสนอเอกชน พร้อมระดมตัวแทน 45 อุตสาหกรรมจัดเวิร์กช็อปใหญ่ หวังชง big issue พักหนี้ต่ออีก 2 ปี-ให้ บสย.ค้ำประกันซอฟต์โลน-ตั้งกองทุนนวัตกรรม 1,000 ล.-Made in Thailand ต้องไปต่อ เชียร์ให้รัฐกู้เพิ่มกอดเงินสดสำรอง 1 ล้านล้าน แม้จะทำให้ NPL แตะ 8% แต่คุ้มแลกฟื้นเศรษฐกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ทีมกรรมการบริหารชุดใหม่ทั้งหมด ประกอบไปด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 9 สถาบัน และ ส.อ.ท. 74 จังหวัด เพื่อจัดเตรียมข้อเสนอต่อที่ประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) ในสัปดาห์หน้า

เบื้องต้นจะมีประเด็นหลัก 4-5 เรื่อง ที่ ส.อ.ท.ต้องการผลักดันต่อ ได้แก่ การขยายระยะเวลาพักชำระหนี้, การปรับหลักเกณฑ์ปล่อยกู้กองทุนซอฟต์โลน, การส่งเสริมให้เอกชนจัดตั้งกองทุนนวัตกรรม, การเร่งรัดการจัดจ้างโดยใช้ Made in Thailand รวมถึงการกู้เงินสำรองเพิ่มในปีนี้

“ที่ผ่านมาเรื่องที่เราผลักดันสำเร็จระดับหนึ่งก็คือ ขอให้รัฐเปิดเวที ศบศ. เหมือนกับกรณีของ ศบค. แต่สิ่งสำคัญที่เรากังวลอยู่ในตอนนี้ก็มาจากการประชุมทั้ง 2 ครั้งของ ศบศ. เราก็เข้าใจว่า ภาระเอกชนจะเป็นคนเตรียมเรื่อง แต่กลายเป็นว่ารัฐบอกว่าจะทำอย่างนี้ในเรื่องเศรษฐกิจ แล้วเราก็วิเคราะห์วิจารณ์ ส่วนใหญ่ประเด็นจะคล้าย ๆ กันนี้”

พักชำระหนี้ขอต่ออีก 2 ปี

ส่วนกรณีมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะสิ้นสุดในเดือนตุลาคมนี้ ทางภาคเอกชนจะเสนอให้ “ต่อมาตรการพักชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี” โดยแบ่งเป็นระยะ ๆ ช่วง 6 เดือนแรกให้พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ระยะที่ 2 อีก 1 ปีครึ่ง ให้พักชำระดอกเบี้ย เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจและจ้างงานต่อไปได้ ไม่เกิดปัญหาหนี้เสีย (NPL) พร้อมกันนี้จะขอให้รัฐบาลพิจารณาปรับเกณฑ์การปล่อยกู้เงินกองทุนซอฟต์โลน 500,000 ล้านบาทด้วย เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น จากปัจจุบันที่สามารถปล่อยกู้ได้เพียง 100,000 ล้านบาท สถาบันการเงินไม่สามารถปล่อยกู้ได้ก็เพราะหลักเกณฑ์กำหนดระยะเวลาชำระเงินคืนใน 2 ปี ให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบ แต่ถ้าหากเกิน 2 ปีสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้ต้องรับผิดชอบ ส.อ.ท.จึงเสนอว่า หลังจากผ่าน 2 ปีไปแล้วควรให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาค้ำประกันต่อ 8 ปี โดยอาศัยวงเงิน GDH 8 มาช่วย SMEs พร้อมทั้งขยายสัดส่วนการค้ำประกันสูงสุดหรือ max claim จาก 30% เป็น 50% แม้จะทำให้ NPL เพิ่มเป็น 8% แต่ก็คุ้มค่ากับการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ


ไปต่อเมดอินไทยแลนด์

ความคืบหน้าเรื่องการใช้สินค้า Made in Thailand ได้ประสานกับกรมบัญชีกลาง แล้วเห็นด้วยที่จะให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐใช้ผลิตภัณฑ์ของไทย โดยเฉพาะจากผู้ผลิต SMEsไม่ต่ำกว่า 30% โดยกำหนดราคาสินค้าให้สามารถมีส่วนต่างได้ 10% ซึ่งในส่วนนี้ ส.อ.ท.จะช่วยทำบัญชีรายชื่อ (product list) ให้ “เรื่องนี้รัฐบาลก็ตอบรับด้วยดี ทางเราคงขับเคลื่อนต่อ”

ที่ผ่านมา ส.อ.ท.พยายามผลักดันการตั้ง “กองทุนนวัตกรรม” วงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยเอกชนจะลงขันใช้กันเองและจัดตั้งคณะผู้บริหารกองทุนทั้งรัฐและเอกชนมาร่วมกัน มีเป้าหมายเป็น one stop service ให้ทุกอุตสาหกรรมขอให้กรมสรรพากร สนับสนุนมาตรการหักภาษี 3 เท่าให้ภาคเอกชนที่บริจาคเงินเข้ากองทุน 3 ปี แต่รัฐยอมรับแค่หักภาษี 2 เท่า

เชียร์กู้เพิ่ม 1 ล้านล้านตุนเงินสด

นายสุพันธุ์กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ทุกประเทศต่างก็ “เตรียมเงินสด” ดังนั้น ส.อ.ท.เห็นด้วยที่รัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มอย่างน้อยอีก 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากขณะนี้เครดิตไทยยังดีประกอบกับภาวะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้การมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “เป็นเรื่องจำเป็นมาก เป็นกลไกสำคัญมากด้านเศรษฐกิจ” ดังนั้น รมต.ต้องมีความรู้ความสามารถด้านการเงินและเศรษฐกิจดี และต้องทนกระแสหลาย ๆ เรื่องได้ คือ ต้องบูรณาการให้ทุกอย่างไปในทิศทางเดียวกัน ถ้ารัฐบาลมีทิศทางเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การขับเคลื่อนก็จะง่าย แต่คนละทิศคนละทางการขับเคลื่อนก็จะลำบาก

คลายล็อกนักธุรกิจรับท่องเที่ยว

สำหรับมาตรการคลายล็อกให้นักธุรกิจสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้หรือไม่นั้น “ขึ้นอยู่กับ ศบค.เป็นคนกำหนดหลักเกณฑ์ เราต้องบาลานซ์ให้ได้ วันนี้เราให้น้ำหนักไปที่โควิดเยอะมาก เราสูญเสียด้านเศรษฐกิจไป 2 ล้านล้านบาท”

ล่าสุดในกลางเดือนกันยายนนี้ ประเทศเวียดนามจะเปิดรับนักลงทุนจาก 7-8 ประเทศ ทั้งเกาหลี-ญี่ปุ่น-จีน ทางด้านสหภาพยุโรปก็เริ่มเปิดรับมากขึ้น “ศบศ.ต้องรีบตัดสินใจเรื่องนี้ เพราะกำลังจะเข้าหน้าหนาวแล้ว นักธุรกิจต่างชาติมีบ้านในไทยเยอะมาก เขาไม่อยากอยู่ประเทศเขา ถ้าไม่รีบเคลียร์เร็วจะเสียโอกาส” นายสุพันธุ์กล่าว