107-อุตสาหกรรม-อิเล็กทรอนิกส์-สหรัฐอเมริกา

“อิเล็กทรอนิกส์สหรัฐ” อ่วม พิษภาษี “เทรดวอร์”

อัปเดตล่าสุด 29 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 884 Reads   

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ฟาดฟันกันด้วยการปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากร แม้จะมีเป้าหมายโจมตีเศรษฐกิจของอีกฝ่าย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่ายต่างเจ็บตัวกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐเองที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
 
รายงาน “TARIFF WAR FALLOUT” ซึ่งทำการสำรวจโดย สมาคมเชื่อมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ไอพีซี) ระบุว่า ราว 90% ของบริษัทผู้ผลิตและประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐกำลังเผชิญหน้ากับต้นทุนภาษีที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากหลายบริษัทยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และอุปกรณ์การผลิตจากจีนเป็นหลัก เพื่อนำมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นแผงวงจรควบคุมรถแทรกเตอร์ ไปจนถึงเครื่องถ่ายภาพทางการแพทย์ เพื่อจำหน่ายในสหรัฐ

ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าของแต่ละบริษัทเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 31% ของมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทั้งหมด โดย 25% ของบริษัทอเมริกันที่ไอพีซีสำรวจ ระบุว่า ต้นทุนการนำเข้าของพวกเขาเพิ่มขึ้นกว่า 50% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

ต้นทุนทางภาษีที่สูงขึ้น ยังทำให้ผลกำไรของบริษัทลดลง ส่งผลให้บริษัท 1 ใน 5 ปรับลดการลงทุนในสหรัฐไปลงแล้ว

“ชอว์น ดูบราวาก” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอพีซีระบุว่า “ค่อนข้างชัดเจนว่าการสูญเสียกำไร ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการลงทุนของบริษัทเหล่านี้ในสหรัฐ” ขณะที่ยอดการลงทุนในธุรกิจคงที่ (business fixed investment) ของสหรัฐลดลง 0.8% ในไตรมาส 2/2019 ถือว่าลดลงสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี

ด้าน “แบรด เฮลท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ “เวอร์เท็กซ์” (VirTex) บริษัทผู้ให้บริการการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามสัญญาจ้างกับบริษัทลูกค้าในรัฐเทกซัสระบุว่า เวอร์เท็กซ์ต้องเสียภาษีมากกว่า 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนที่ผ่านมาในนามของบริษัทลูกค้า ซึ่งต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ชิ้นส่วนประกอบนำเข้าจากจีน ทำให้มีบริษัทราว 51% ของบริษัททั้งหมดเริ่มจัดหาและนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศอื่น เพื่อเลี่ยงภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีน

การแบกรับต้นทุนสูงยังส่งผลให้บริษัทอีกราว 13% ต้องลดการจ้างงานเพิ่มเติมภายในโรงงาน และบางส่วนก็ตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานที่มีอยู่เดิม นอกจากนี้ บางบริษัทยังปรับลดชั่วโมงการทำงานของพนักงานเนื่องจากการผลิตลดลง ขณะที่บางบริษัทกำลังเพิ่มการลงทุนในระบบการผลิตอัตโนมัติเพื่อรับมือกับต้นทุนทางภาษี ซึ่งอาจส่งผลให้มีการลดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก

“จอห์น มิตเชลล์” ประธานและซีอีโอของไอพีซี ระบุว่า “การตอบโต้ด้วยการเพิ่มอัตราภาษีก็เหมือนกับใช้ค้อนขนาดใหญ่คั้นน้ำส้ม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ผิดและทำให้วุ่นวายไปหมด”

“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐและจีนยกเลิกการเพิ่มอัตราภาษี แล้วหันไปมุ่งที่โต๊ะเจรจาและหาข้อตกลงที่สามารถแก้ปัญหาระยะยาวของทั้ง 2 ฝ่ายได้” มิตเชลล์ทิ้งท้าย

อ่านต่อข่าวผลกระทบสหรัฐจากศึกสงครามการค้า:
“ธุรกิจรายย่อย” เจ็บหนักกว่า ในศึก “สงครามการค้า”