ประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 6 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561

“หวังหย่ง” นำทัพธุรกิจจีนบุก บูมลงทุน EEC 3ปี ดันการค้า1.4 แสนล้าน

อัปเดตล่าสุด 28 ส.ค. 2561
  • Share :
  • 465 Reads   

สัมพันธ์การค้าไทย-จีนชื่นมื่นดันยอดค้าทะลุ 1.4 แสนล้าน อีก 3 ปี เชื่อมโยงการค้าภูมิภาค มั่นใจเกิดการลงทุนจริงปี'62 หลังนายกฯ นั่งประธานทีมเจรจาแก้กฎระเบียบเปิดทางธุรกิจใหม่ ด้าน "หวัง หย่ง" นำทัพ 600 ธุรกิจเยือนไทย ส่งสัญญาณลุยลงทุนนิคมฯ ไทย-จีน จ.ระยอง

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ในการประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 6 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ทั้งสองฝ่าย เห็นชอบกำหนดแนวทางผลักดันการค้าระหว่างกันจาก 70,000-80,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯเป็น 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 โดยในโอกาสนี้ สองฝ่ายได้มีการจับคู่ธุรกิจ 400 ราย และมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกัน 16 ฉบับ โดยเป็นการลงนามในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ 6 ฉบับ และในส่วนของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC ) อีก 10 ฉบับ อาทิ ผลลัพธ์การประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 6, จัดตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการค้าอย่างไร้อุปสรรคระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยกับจีน และพิธีสารหลักเกณฑ์การตรวจสอบการกักกันและสุขอนามัย, MOU ระหว่าง EEC กับกระทรวงพาณิชย์จีน, MOU ความร่วมมือด้านอวกาศ  ในส่วนของ EEC  มี MOU 10 ฉบับ อาทิ จุฬาภรณราชวิทยาลัย กับบริษัท บีจีไอ-เซินเจิ้น จำกัด และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), MOU สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบการจีนในประเทศไทยMOU ระหว่างบริษัท ซี.พี. แลนด์ จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มบริษัท ก่อสร้างของมณฑลกว่างซี ประเทศจีน และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ MOU ระหว่าง Digital Park Thailand และสถาบัน IoT ระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น  


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Thailand-China Business forum 2018 : Comprehensive Strategic Partnership through the Belt and Road Initia-tive and the EEC ว่า การสัมมนาครั้งนี้มีนักลงทุนและบริษัทขนาดใหญ่ของจีนเข้าร่วมกว่า 600 ราย นับเป็นประวัติการณ์ของประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-จีน ที่มีมากกว่าความสัมพันธ์ทางธุรกิจ โดยหวังว่าประเทศพี่ใหญ่อย่างจีนจะช่วยพัฒนาประเทศที่กำลังพัฒนาโดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ ทำให้มูลค่าการค้าไทย-จีนจากนี้เพิ่มเป็น 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 จากเดิมอยู่ที่ 70,000-80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยใช้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) กลุ่มภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ACMECS) มาช่วยให้เกิดความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว


ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมาคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC มีจำนวน 822 โครงการ มูลค่าราว 700,000 ล้านบาท สัดส่วนถึง 47% ของมูลค่าการลงทุนรวมทั้งหมด ซึ่งเป็นนักลงทุนจีนสูงถึง 60,000 ล้านบาท


นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะลงนามตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานการลงทุน โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมด้วยรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อแก้ไขอุปสรรคให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะกฎระเบียบ กฎหมายที่ธุรกิจใหม่ ๆ  เพราะที่ผ่านมาบางโครงการมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท แต่มีปัญหานักลงทุนเข้ามาติดบีโอไอ หรือกับอีอีซี ทำให้เสียเวลาในการที่เขาจะตัดสินใจลงทุน คณะกรรมการชุดนี้มาช่วยกันแก้ 


"คาดว่าจากการจัดงานครั้งนี้จะมีส่วนดึงดูดให้นักลงทุนจีนสนใจเข้ามาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่จะเปิดยื่นซองประมูลในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังมีบริษัทจีนซื้อ TOR ไปแล้ว รวมถึงการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะในพื้นที่ EECd ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งในปลายปีนี้จะเริ่มเห็นว่าจีนจะลงทุนอะไรบ้างในไทย และต้นปี 2562 จะเห็นการลงทุนจริงที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานก่อนจากนี้จะเริ่มเห็นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ และตามมาด้วยอุตสาหกรรมเป้าหมาย


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ในช่วงครึ่งปีแรก2561 มีการค้าระหว่างกัน 39,395 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% เชื่อว่าจะขยายได้อีกมากจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ได้มีการลดภาษีสินค้าซึ่งอนาคตจะลดลงอยู่ในระดับ 0-5% และโครงการ One Belt One Road ช่วยยกระดับและพัฒนาการค้า เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้  


นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า การพบปะหารือระหว่างผู้นำครั้งนี้จะขยายโอกาสทางการค้าระหว่างกัน เพราะจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน มีผลให้มีการนำเข้าสินค้าไทยมากขึ้น เช่น รังนก ข้าว ยางพาราและมันสำปะหลัง อีกทั้งนักลงทุนจีนสนใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไทย-จีนที่ จ.ระยองอนาคตระหว่างไทย-จีน จะเกิดความร่วมมือพัฒนาดาวเทียมสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจเข้ามาลงทุน นอกจากที่มีการเข้ามาลงทุนอยู่แล้วอย่างการผลิตยางรถยนต์ ผลิตรถยนต์ การลงทุนด้านก่อสร้างเขื่อนพลังงานน้ำ โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH