FTA พลิกวิกฤตเทรดวอร์ รุกตลาดฮ่องกง-ญี่ปุ่น 5 แสนล้าน
การทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ไทยมองข้ามไม่ได้เลย ท่ามกลางปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่กำลังบานปลาย ส่งผลให้การส่งออกไทยทรุดต่ำลง ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 1/2562 ขยายตัว 2.8% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3.6% เป็นผลจากการส่งออกที่หดตัว 3.6% คาดว่าการส่งออกทั้งปีจะขยายตัว 3%
ขณะนี้ไทยเดินหน้าทำ FTA กับประเทศในเอเชียตะวันออก ซึ่งไม่เพียงเป็นเครื่องมือขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อทดแทนการส่งออกในสองตลาดดังกล่าว แต่ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคด้วย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ฮ่องกง และสมาชิกอาเซียน ได้แก่ เมียนมา สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม แจ้งความพร้อมที่จะใช้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (ASEAN-Hong Kong Free Trade Agreement : AHKFTA) ทำให้ความตกลงจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย. 2562 และฮ่องกง สปป.ลาว เมียนมา สิงคโปร์ และไทย ยังได้แจ้งความพร้อมในการใช้ความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างอาเซียน-ฮ่องกง (ASEAN-Hong Kong Investment Agreement :
AHKIA) ทำให้ความตกลงจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 17 มิ.ย. 2562
AHKFTA เปิดเสรีการค้า-ลงทุน
ประโยชน์ในด้านการค้าที่จะเกิดขึ้น ภายใต้ AHKFTA “ฮ่องกง” ตกลงว่า ในอนาคตจะไม่ขึ้นภาษีสินค้า จากปัจจุบันที่ฮ่องกงเป็นประเทศเก็บภาษี 0% ทุกรายการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกสินค้าไปฮ่องกงเพิ่มมากขึ้น และยังเจาะเข้าสู่ตลาดจีนได้ด้วย ส่วนฮ่องกงจะได้ประโยชน์จากการที่อาเซียนลดภาษีสินค้านำเข้าจากฮ่องกงให้ต่ำลง
พร้อมกันนี้ ฮ่องกงจะเปิดตลาดภาคบริการให้อาเซียนมากกว่าที่ผูกพันกับองค์การการค้าโลก (WTO) โดยเฉพาะสาขาบริการที่ไทยเรียกร้อง เช่น การผลิตเนื้อหารายการแก่ผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ไทยสามารถถือหุ้นได้ 100% แบบไม่มีเงื่อนไข ช่วยให้เอกชนไทยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าวสามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจครบวงจรในฮ่องกง ด้านการลงทุนตามความตกลง AHKIA จะคุ้มครองการลงทุน หลังจากที่ได้เข้ามาจัดตั้งธุรกิจ และการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนของอาเซียนและฮ่องกง เช่น มีกระบวนการยื่นขออนุมัติการลงทุนที่สะดวกขึ้น ทั้งยังสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านกฎระเบียบ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งสองฝ่าย การปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกับนักลงทุนในประเทศ กระบวนการยื่นขออนุมัติการลงทุนที่สะดวกขึ้น และส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลการลงทุนระหว่างกัน
ขณะที่ไทยอนุญาตให้ผู้ให้บริการฮ่องกงเข้ามาลงทุนในไทย ใน 74 สาขาย่อย อาทิ สามารถถือหุ้นได้ 75% ในสาขาบริการให้คำปรึกษาในการร่างเอกสารเกี่ยวกับกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (ไม่รวมกฎหมายในประเทศ) 49% ในสาขาบริการผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 40% ในสาขาบริการวิดีโอเท็กซ์ และ 25% ในสาขาบริการให้เช่าวงจร เป็นต้น
รีวิวอาเซียน-ญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ ในการประชุมรัฐมนตรี RCEP สมัยพิเศษ ครั้งที่ 7 เมื่อเดือน มี.ค. 2562 ที่กัมพูชา อาเซียนและญี่ปุ่นได้ลงนามในพิธีสารฉบับที่ 1 เพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) เพื่อเพิ่มเติมข้อตกลงด้านการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุนในความตกลง AJCEP เดิมที่ได้จัดทำตั้งแต่ปี 2552 โดยเป็นความตกลงซึ่งครอบคลุมเฉพาะเรื่องการค้าสินค้า และคาดว่าพิธีสารฉบับแก้ไขดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับภายในครึ่งปีหลังของปี 2562
โอกาสของไทยที่จะได้รับจาก AJCEP ไทยจะได้ประโยชน์จากการที่ญี่ปุ่นเปิดตลาดธุรกิจบริการให้กับอาเซียนเพิ่มเติมในระดับสูงกว่าที่ญี่ปุ่นผูกพันกับ WTO เช่น บริการด้านวิจัยและพัฒนา บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ บริการวิชาชีพ บริการโสตทัศน์ บริการก่อสร้าง บริการจัดจำหน่าย บริการสิ่งแวดล้อม บริการการเงิน และบริการขนส่งในบางกิจกรรม เป็นต้น โดยญี่ปุ่นเปิดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ 100%
ทั้งนี้ หากความตกลง 2 ฉบับมีผลสำเร็จ ไทยจะสามารถขยายตลาดซึ่งมูลค่าการค้ารวม 582,465.96 ล้านบาทได้ ตามข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ระบุว่า ฮ่องกง เป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกันช่วงไตรมาส 1 เท่ากับ 108,977.09 ล้านบาท ลดลง 20.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ไทยส่งออก 86,527.10 ล้านบาท ลดลง 13.98% นำเข้า 35,951.79 ล้านบาท ลดลง 37.56% โดยไทยได้ดุลการค้าฮ่องกง 64,077.11 ล้านบาท ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 473,488.87 ล้านบาท ลดลง 1.47% ไทยส่งออก 201,906.08 ล้านบาท ลดลง 2.04% นำเข้า 271,582.80 ล้านบาท ลดลง 0.96% ไทยขาดดุล การค้า 69,676.72 ล้านบาท
ความตกลง AJCEP ดึงนักลงทุนญี่ปุ่นเข้า EEC
ในความตกลง AJCEP ญี่ปุ่นเปิดตลาดบริการเพิ่มเติมให้กับไทย เพิ่มจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เช่น บริการด้านการแพทย์และทันตกรรม และบริการด้านวิชาชีพพยาบาล เป็นต้น และญี่ปุ่นยังเปิดตลาดบริการเพิ่มเติมให้ไทยตามที่ได้เรียกร้อง เช่น ก่อสร้าง การท่องเที่ยว โทรคมนาคม เป็นต้น จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทย ส่วนไทยได้เปิดตลาดบริการด้านการวิจัยและพัฒนา การให้คำปรึกษาด้านบริหารจัดการ และบริการด้านสิ่งแวดล้อมให้กับญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานภาคบริการของไทย
ด้านการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ญี่ปุ่นจะอนุญาตการเข้าเมืองและพำนักอยู่ในประเทศเป็นการชั่วคราวแก่บุคคล 6 ประเภท เช่น 1.นักธุรกิจที่พำนักระยะสั้น 2.ผู้โอนย้ายภายในบริษัท 3.บุคคลธรรมดาที่ปฏิบัติงานและมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและองค์ความรู้ระดับสูง 4.นักลงทุนของอาเซียน 5.บุคคลธรรมดาที่ให้บริการด้านวิชาชีพของอาเซียน และ 6.คู่สมรสและทายาท โดยอนุญาตให้เข้ามาบริการใน 145 สาขาย่อย ยกเว้นบริการสาขาย่อยภายใต้บริการด้านสุขภาพและสังคม บริการอนุญาโตตุลาการ บริการรักษาความปลอดภัย บริการที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะน้ำมันและเหมืองแร่ บริการวิทยุและโทรทัศน์ เป็นต้น
ทั้งนี้ การลงทุนได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครอง ส่งเสริมและอำนวยความสะดวก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นในฐานะนักลงทุนอันดับหนึ่งของไทย ให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) สาขายานยนต์แห่งอนาคต อากาศยาน เครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์ อุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งจะช่วยยกระดับภาคการผลิตของไทยให้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตระดับโลกได้