หอการค้าภาคใต้ชงรัฐอัดฉีดงบฯ อินฟราฯ เชื่อมฝั่งไทย-อันดามัน

อัปเดตล่าสุด 24 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 305 Reads   

ในการจัดประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาค ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2562 ที่กรุงเทพฯ ได้มีการระดมความคิดเห็นของนักธุรกิจจากทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันวางแผนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาค ซึ่งกลุ่มหอการค้าจังหวัดแต่ละภาคมีการนำเสนอโจทย์สำคัญเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการ ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” ขอนำทยอยลงทีละภาค ดังนี้

ภาคใต้เป็นภาคที่มีศักยภาพสูง มี 2 ฝั่งทะเล มีชายทะเลถึง 1,600 กม. ซึ่งเป็นประตูการค้าสู่ต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมาภาคใต้ค่อนข้างจะไม่ได้รับงบประมาณในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำมาก นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า สิ่งที่ได้ทำเวิร์กช็อปกันเป็นเรื่องเดิมที่ต้องเสนอย้ำว่า มีความจำเป็นในการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจโดยเรื่องเร่งด่วนที่หอการค้าภาคใต้อยากให้รัฐบาลแก้ไข เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ 1.การผลักดันรถไฟสายชุมพรและระนอง 2.เร่งรัดการก่อสร้างสนามบินภูเก็ต 2 ในจังหวัดพังงา ซึ่งทุกวันนี้ ภูเก็ตเครื่องบินเต็มมาก ลงทุกครึ่งชั่วโมง หลุมจอดก็ไม่พอ จึงมีแนวคิดทำสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ใน จ.พังงา วันนี้มีความก้าวหน้าในการหาพื้นที่ก่อสร้าง และ 3.เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยวเส้นทางสุราษฎร์ธานี-(ท่านุ่น) พังงา-ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี-ขนอม นอกจากนี้ ผลักดันรถไฟทางคู่จากชุมพร-สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สุไหงโก-ลก และปาดังเบซาร์ ทั้งนี้ ถ้ากระทรวงคมนาคมให้งบฯดำเนินการมาต่อเนื่องจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของภาคใต้

ส่วนด้านค้าชายแดน เสนอใน 2 ประเด็นคือ 1.แก้ไขกฎหมายรถบรรทุกทะเบียนไทยเข้ามาเลเซียได้ ซึ่งปัจจุบันรถมาเลเซียเข้าประเทศไทยได้ ซึ่งจดทะเบียน 2 สัญชาติ แต่รถไทยจะเข้ามาเลเซียไม่ได้ เพราะไม่สามารถจดทะเบียนมาเลเซียได้ และ 2.ประกาศให้จังหวัดสตูลเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อขอได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งให้กับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับเรื่องเร่งด่วนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มี 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ส่งเสริมการค้าและท่องเที่ยวชุมชน (local economy) 2.ไทยแลนด์ริเวียร่า 3 ภาค 12 จังหวัด (ชุมพร/ระนอง/สุราษฎร์ธานี/นครศรีธรรมราช) ซึ่งเชื่อมกับภาคกลางที่จังหวัดสมุทรสงคราม 3.จัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตรชายแดนสุไหงโก-ลก 4.ปลดล็อกแก้ไขกฎหมายการขออนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปปาล์มขนาดเล็กได้ และ 5.สนับสนุนการค้า B100 อย่างถูกต้อง/สามารถทำได้ทุกคนไม่มีข้อจำกัด

แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ แบ่งเป็นด้านเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันที่อยากผลักดันให้ภาครัฐดำเนินการ ได้แก่ การผลักดันให้สร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (cruise) จ.กระบี่ และ จ.สุราษฎร์ธานี, โครงการคลองท่อมเมืองสปา, Southern Economic Corridor (SEC), เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟสายใหม่เชื่อมรถไฟสายใต้และรถไฟทางคู่, อุทยานธรณีโลก จ.สตูล SATUN GEOPARK

ด้านลดความเหลื่อมล้ำ มีโครงการที่ต้องการผลักดันให้ภาครัฐทำคือ การพัฒนาทะเลสาบสงขลา ขณะที่มีโครงการที่หอฯภาคใต้จะร่วมทำกับภาครัฐคือ โครงการแพะแปลงใหญ่ จ.กระบี่ รวมถึงมีโครงการที่หอฯ ภาคใต้จะดำเนินการเอง ได้แก่ ท่องเที่ยวชุมชน, Andaman Go Green, หอการค้าแฟร์, ส่งเสริมและยกระดับพืชเกษตรกาแฟภาคใต้ จ.ชุมพรและ จ.ระนอง รวมถึงส่งเสริมเกษตรปลอดภัยและยกระดับเกษตรอินทรีย์เพื่อการท่องเที่ยว จ.พังงา

นายสมชาย ตันติ์ศรีสกุล กรรมการหอการค้าไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในด้านการค้าและการลงทุนว่า มีการพิจารณา 2 ประเด็นคือ 1) การค้าชายแดน ที่จะพัฒนาเมืองสุไหงโก-ลก ให้เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ รวมถึงการยกระดับมาตรฐานของด่านมาเลเซีย-ไทย 2) ช่องทางการจัดจำหน่าย มีการเสนอตั้งศูนย์กระจายสินค้าในแต่ละจังหวัด และนำสินค้าชุมชนมาจำหน่าย รวมถึงจัดตั้ง smart market

ด้านเกษตรและอาหาร มีการพิจารณา 3 ประเด็นคือ 1) การเพาะปลูก จะมีการส่งเสริมองค์ความรู้ในการปลูกพืชประเภทอื่น นอกเหนือจากยางพาราและปาล์มน้ำมัน เช่น โกโก้, จัดตารางเวลา เพื่อให้เกษตรกรได้ทราบว่าช่วงใดควรปลูกอะไรจะได้ตรงกับความต้องการของตลาด 2) นวัตกรรมและการแปรรูป (1 หอการค้า 1 สหกรณ์ 1 นวัตกรรม) โดยให้ความรู้เชิงนวัตกรรมกับเกษตรกร เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าการเกษตรตลอดห่วงโซ่อาหาร, ส่งเสริมและผลักดันให้แปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมาตรฐานและทันสมัย 3) ด้านการตลาด ผลักดันให้มีการจัดตั้งนิคมตลาดเพื่อการเกษตร และเกษตรอาหารปลอดภัยสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ด้านการท่องเที่ยวและบริการ มีการพิจารณา 4 ประเด็นคือ 1) โครงสร้างพื้นฐาน เสนอให้มีการทำรถไฟรางคู่, ท่าเรือสำราญ, สนามบิน และอุโมงค์ทางลอด 2) digital technology และ big data มีการนำข้อมูลมาใช้ในการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยว, ใช้ AR ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว, ใช้ big data ในการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยว และใช้ application สำหรับแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว 3) พัฒนาบุคลากร เพิ่มทักษะด้านภาษา (อังกฤษ, จีน), service mind, การท่องเที่ยว 4) สินค้าด้านการท่องเที่ยว จัดกิจกรรมพิเศษ เช่น งานแสดงสินค้า, sport event เป็นต้น