096-FTA-ไทย-อียู-การค้าเสรี

IFD หนุนฟื้นเอฟทีเอไทย-อียู หวังดัน “จีดีพีไทย” โต 1.63%

อัปเดตล่าสุด 26 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 649 Reads   

พาณิชย์ชง กนศ.ฟื้น FTA ไทย-อียูสุดคุ้ม ดัน GDP โต 1.63% แต่ยังต้องรอบคอบ 3 ประเด็น

นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) กล่าวระหว่างงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “ผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป” (FTA ไทย-อียู) ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่กรมจะนำผลการศึกษานี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ

ทั้งนี้ ผลศึกษาสรุปว่า หากลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการ จะส่งผลให้จีดีพีไทยขยายตัว 1.63% การส่งออกเพิ่มขึ้น 3.43% การนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.42% การลงทุนเพิ่มขึ้น 2.74% ตลอดจนตัวเลขด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น สวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ การบริโภคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.32% ขณะที่เงินเฟ้อลดลง 0.41% และจำนวนคนจนลดลง 3.9 แสนคน

โดยสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น ส่วนสาขาอาจจะได้รับผลกระทบ เช่น น้ำตาล ผัก ผลไม้ และถั่ว เป็นต้น

“ผลการศึกษาพบว่า หากฟื้นเอฟทีเอไทย-อียูจะช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทยในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน ช่วยเพิ่มแต้มต่อทางการแข่งขันของไทยที่หายไปเมื่อเทียบกับประเทศที่มีเอฟทีเอกับอียูแล้ว เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และบราซิล เป็นต้น โดยปัจจุบันอียูเป็นตลาดที่มีศักยภาพเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 2 ของไทย ในปีที่ผ่านมาไทย-อียูมีการค้าระหว่างกันมูลค่า 47,341.5 ล้านเหรียญสหรัฐ”

นายทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัยไอเอฟดี กล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูเป็นประโยชน์กับประเทศไทย หากจะฟื้นการเจรจาไทยจะต้องผลักดันให้ EU ลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรและเพิ่มโควตาการนำเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ อาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วนเคมีภัณฑ์ พลาสติก ข้าวสี สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ส่วนไทยควรลดภาษีนำเข้าให้เหลือ 0% ภายใน 5 ปี เช่น เครื่องในหมู กระดาษเครื่องหนัง อาหารสัตว์ เป็นต้น ส่วนการเปิดเสรีภาคบริการในสาขาที่ช่วยลดต้นทุนและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ไทย เช่น ขนส่งทางทะเล ขนส่งทางบก ประกันภัย บริการด้านสิ่งแวดล้อม ค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น ด้านการลงทุนไทยไม่ควรให้เปิดเสรีการลงทุนภาคการเกษตร เพราะจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และควรกำหนดให้ถือครองได้ 50 ปีเช่นเดิม

“ประเด็นที่อียูขอให้ยืดอายุสิทธิบัตรชดเชยความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยา ไม่ควรเกิน 2 ปี จากอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร 20 ปี หรือจำกัดระยะเวลาขอบเขตความล่าช้าที่เหมาะสม การให้อิสระในการกำหนดกฎหมายภายใน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายาร่วมกัน รวมถึงการขยายระยะเวลาคุ้มครองลิขสิทธิ์หลังผู้สร้างสรรค์สิ้นชีวิตอีก 50 ปี”

สำหรับมาตรการเยียวควรช่วยเหลือค่ายาสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย โดยขยายระบบประกันสังคม การตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผลกระทบ รวมถึงการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ส่งเสริมธุรกิจการทดสอบมาตรฐานสินค้า เป็นต้น