หอฯไทย-เทศ แท็กทีมรับมือ “จีดีพีทรุด” แก้ปมสูญญากาศรัฐบาลใหม่ลากยาว

อัปเดตล่าสุด 30 เม.ย. 2562
  • Share :
  • 410 Reads   

หอการค้าไทย-ต่างประเทศ ผนึกกำลังดิ้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เตรียมจัดประชุมเวิร์กช็อป 26-27 เมษายนนี้ ระดมสมอง-วางแนวทางทำงานร่วมภาคเอกชนไม่รอรัฐบาล หวั่นสุญญากาศรัฐบาลใหม่ลากยาว ทุบความเชื่อมั่น นักลงทุนหน้าใหม่ พร้อมถกตั้งคณะทำงานดันส่งออก หลังสงครามการค้าทุบตัวเลขหลุดเป้า ขณะที่นักลงทุนต่างชาติกังวลแผนลงทุนอีอีซีสะดุด เวิลด์แบงก์ปรับลดจีดีพีไทยปีนี้โต 3.8%


ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ล่าสุดธนาคารโลกได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้จาก 3.9% เหลือ 3.8% หลังจากผ่านการเลือกตั้งนานนับเดือน ประเทศไทยยังไม่มีแนวโน้มที่จะจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่องค์กรภาคธุรกิจเฝ้าจับตาใกล้ชิด โดยเฉพาะสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมีเสียงสะท้อนถึงความกังวลว่าช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยอาจขาดปัจจัยบวกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสภาหอการค้าฯ เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ โดยเป็นครั้งแรกที่ดึงตัวแทนหอการค้าจังหวัด 15 คน หอการค้าต่างประเทศ 15 คน และสมาคมการค้า 15 คน เข้าร่วมกับหอการค้ากลาง ด้วยเป้าหมายที่ต้องการระดมความคิดเห็นให้รอบด้าน และร่วมขับเคลื่อนการทำงานของภาคเอกชนให้เกิดประสิทธิผลทางเศรษฐกิจมากที่สุด


นักลงทุนใหม่ไม่กล้าเข้า


นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการหารือกับทางภาคเอกชนสมาชิกหอการค้าต่างประเทศ 30 หอการค้าที่เข้าร่วม แสดงความสนใจว่าประเทศไทยจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เมื่อไหร่ ใครจะมาเป็นรัฐบาลและจะอยู่ได้นานเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลขอให้เดินหน้านโยบายเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งทางหอการค้าฯเชื่อว่าเอกชนรายเดิมที่มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนไปแล้วจะยังดำเนินการต่อเนื่อง แต่เอกชนรายใหม่ที่กำลังจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนอาจยังกังวลต่อสถานะของประเทศที่ยังไม่มีรัฐบาล ขณะที่ปีนี้ประเทศไทยยังต้องเตรียมพร้อมในการดำเนินการเพื่อเป็นประธานอาเซียน ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญ


เอกชนดิ้นไม่รอรัฐบาล


นายกลินท์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมเวิร์กช็อปคณะกรรมการหอการค้าชุดใหม่ ในวันที่ 26-27 เมษายนนี้ จะวางแนวทางการทำงาน ระดมสมองและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ว่าส่วนใดภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้เองในทันที ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐ อย่างเช่น การจัดทำดิจิทัลแพลตฟอร์มของหอการค้าฯเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ การจัดทำ Thailand Digital Tourism Platform

สำหรับประเด็นสำคัญที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งดำเนิน อาทิ การอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อให้เกิดความง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในด้านการค้าการลงทุน และการที่เอกชนจะร่วมมือกับภาครัฐ สานต่อโครงการท่องเที่ยวริมโขงในพื้นที่ 7 จังหวัด เพื่อผลักดันและกระตุ้นการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
แก้ปมประชารัฐ 12 ชุดหมดอายุ
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง คือเอกชนยังไม่กล้าตัดสินใจลงทุน เพราะยังรอพิจารณาว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ช่วงนี้เรียกว่าเป็นช่วงเก็บเนื้อเก็บตัว ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุน ขณะที่ภาคส่งออกปีนี้คาดว่าจะโตแค่ 3% คงไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ 8% เพราะปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก และสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ และหากยิ่งมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงงานจะยิ่งเป็นการซ้ำเติม
ขณะเดียวกัน ตัวช่วยอย่างคณะทำงานสานพลังประชารัฐก็หมดวาระลงไปหลังจากการเลือกตั้ง ดังนั้น ในวันที่ 30 เมษายนนี้ ทางคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ (D4) จะเข้าหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน ให้อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์) เป็นประธานร่วมกับตน ซึ่งเป็นตัวแทนภาคเอกชน และมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางสาวชุติมา บุณยประภัศร) เป็นที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการจัดทำแผนการผลักดันการส่งออก


หอ ตปท.หวั่น “อีอีซี” สะดุด


ขณะที่นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย เปิดเผยว่า ในมุมมองของต่างชาติยังมองว่าไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุน หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม มีความง่ายในการประกอบธุรกิจ มีกฎหมายที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ากว่า 3 เดือน ก็ควรต้องมีเหตุผล
“นักลงทุนไม่ได้กังวลปัญหาระยะสั้น แต่กังวลระยะยาวมากกว่า เพราะการลงทุนไม่ใช่มาวันนี้ พรุ่งนี้ไปได้ โดยเฉพาะความต่อเนื่องการลงทุนโครงการอีอีซี จะล่าช้าหรือจะเป็นไปตามแผนหรือไม่ รวมทั้งความชัดเจนของการลงทุนอีอีซีที่จะเกิดขึ้น รวมถึงความกังวลว่าประสิทธิภาพการทำงานจะดีไหม จากที่หลาย ๆ กระทรวงไม่มีรัฐมนตรี และถ้าลากยาวแล้ว หลายอย่างต้องพิสูจน์ว่าจะทำอย่างไร”
สำหรับนโยบายที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งผลักดัน คือ การส่งเสริมการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศหลายฉบับที่ยังค้างคาอยู่ เช่น การเจรจาความตกลง (RCEP) และความตกลงเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งหยุดชะงักไปหลังจากการมีรัฐประหาร ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน เช่น เรื่องเกี่ยวกับการทำสัญญาการว่าจ้าง


รับมือเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำ


นายไพรัช บูรพชัยศรี ในฐานะประธานสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก (EABC) และประธานคณะทำงาน RCEP ภาคเอกชน หอการค้าไทย กล่าวว่า ปีนี้ไทยเป็นประธานอาเซียน มีวาระสำคัญต้องผลักดันการเจรจา RCEP ให้จบในปีนี้ หลังจากลากยาวมาหลายปี เพราะที่ผ่านมา
ในการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ยังติดล็อกบางประเทศที่ไม่พร้อม เช่น อินเดียยังไม่พร้อมเปิดตลาด เป็นไปได้ไหมที่จะเปิดเสรีไปเฉพาะส่วนที่พร้อมก่อน ซึ่งยังตกลงกันอยู่ รวมทั้งประเด็นอื่นที่ค้าง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา แหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งไทยต้องอาศัยจังหวะที่เป็นประธานอาเซียน จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN SUMMIT) ผลักดันให้ได้ข้อสรุประดับผู้นำ
“ในเวทีระดับผู้นำนอกจากผู้นำอาเซียนแล้ว จะมีผู้นำประเทศของพันธมิตรทั้งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ, ชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น, เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ, เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส รวมทั้งผู้นำจีน, เยอรมนี และรัสเซีย มีแผนว่าจะเข้าร่วม ขึ้นอยู่กับการเมืองเราจะชัดเจนแค่ไหนในการเตรียมงาน นอกจากนี้ หลายประเทศที่มามีนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนในอีอีซี แต่วันนี้ยังลังเลใจเพราะมีบางพรรคหาเสียงว่า ไม่เอาอีอีซี”


ดันทบทวนปรับขึ้นค่าแรง


นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกิตติมศักดิ์สภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนอยากเห็นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ข้อสรุปโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากพรรคใด เพราะการเมืองถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน ขณะนี้เอกชนต่างชะลอและเฝ้าดู ไม่กล้าตัดสินใจลงทุน ส่วนประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงงานกำลังมีการทบทวนจะไม่ปรับขึ้นค่าแรงในช่วง พ.ค.ปีนี้ และจะมีการพิจารณาปรับอีกครั้งในเดือนมกราคม 2563 เนื่องจากหากมีการปรับขึ้นค่าแรง 2-10 บาทต่อคนต่อวัน ในปีนี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอย่างอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งไทยจะมีอัตราค่าแรงสูงมากหากเทียบกับอาเซียน อาจจะทำให้แข่งขันลำบาก และจะมีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง
นายสุกิจ คงปิยาจารย์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า การปรับค่าแรงเป็นปัจจัยหลักที่กระทบอุตสาหกรรมนี้ ค่าแรงคิดเป็น 20-22% ของต้นทุนการผลิต เพราะตอนนี้ต้นทุนค่าแรงของไทยสูงสุดในอินโดจีน และปัญหาคือผู้ประกอบการจะไปกำหนดราคาอย่างไร เพราะปกติต้องกำหนดราคาล่วงหน้า 6-12 เดือน แต่ยังไม่รู้ความชัดเจนว่าต้นทุนจะขึ้นเท่าไร เทียบกับฐานผลิตในอาเซียนอื่น ๆ ที่เอกชนไทยไปลงทุน เช่น เวียดนาม หรือ กัมพูชา ทุกประเทศก็ปรับขึ้น แต่มีความชัดเจนในนโยบาย เช่น เวียดนามบอกว่าใน 5 ปี ปรับขึ้นเฉลี่ยปีละ 20% ส่วนไทยไม่มีการวางแนวทางที่ชัดเจน การปรับขึ้นต้องพิจารณาหลายอย่าง เช่น ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ


ปรับเป้าส่งออกโตแค่ 2.7%


นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บล.ไทยพาณิชย์มองทิศทางเศรษฐกิจไทยเติบโตชะลอลง และได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2562 จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 3.8% เหลือเพียง 3.6% โดยได้รับแรงกดดันมาจากการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งในปี 2561 การส่งออกไทยเติบโต 7.2% ขณะที่ปี 2562 คาดว่าจะเติบโตเพียง 2.7%
“การส่งออกเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อจีดีพีไทยค่อนข้างสูง เมื่อส่งออกมีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างต่ำ จึงส่งผลกระทบต่อคาดการณ์จีดีพีไทยด้วย ปัจจัยที่กดดันตัวเลขส่งออก ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่เป็นปัจจัยลบต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในวันที่ 9 พ.ค. 62 ที่ กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าในช่วงปลายปีนี้จะได้เห็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ตาม โครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ เช่น โครงการอีอีซี อาจต้องเลื่อนการสานต่อหลังจากที่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ชัดเจน”


มี.ค.ธุรกิจเลิกกิจการเพิ่ม 32%


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า การจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนมีนาคม 2562 พบว่ามีจำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ 6,876 ราย เพิ่มขึ้น 5% จากเดือนก่อน และมีทุนจดทะเบียน 17,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากเดือนก่อน เป็นผลจากนักลงทุนไทยและต่างชาติเข้าไปลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น โดยประเภทธุรกิจที่จัดตั้งสูงสุด คือ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และร้านอาหาร ส่วนจำนวนธุรกิจเลิกกิจการในเดือนมีนาคม 2562 มีจำนวน 1,075 ราย เพิ่มขึ้น 32% จากเดือนก่อน
สำหรับยอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ไตรมาส 1/62 จำนวน 20,750 ราย เพิ่มขึ้น 31% จากไตรมาส 4/61 และเพิ่ม 3% จากไตรมาส 1/61 ขณะที่ยอดเลิกกิจการ 3,288 ราย ลดลง 38% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/61 และเพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาส 1/61 นอกจากนี้ พบว่าการลงทุนของต่างชาติในนิติบุคคลไทย ไตรมาส 1/62 สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ สัญชาติจีน มีเงินลงทุน 1,997 ล้านบาท
รองลงมาคือ ไต้หวัน เงินลงทุน 406 ล้านบาท และสัญชาติญี่ปุ่น เงินลงทุน 397 ล้านบาท ประเภทธุรกิจที่ลงทุนสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจผลิตเครื่องจักรสำหรับการทำเหมืองแร่ เหมืองหิน การก่อสร้าง และการผลิตอาหาร