การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยในเดือนตุลาคม 2561
การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม 2561 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 8.7 หรือคิดเป็นมูลค่า 21,758 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกขยายตัวเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น อินเดีย และCLMV ที่ขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดสหรัฐฯ และจีนที่กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวเล็กน้อยในเดือนก่อนหน้า
ขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 6.8 สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกในปี 2561 จะยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 8 ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยได้เตรียมกลยุทธ์และแนวทางการส่งเสริมการส่งออก การค้าและการลงทุนของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2561 และปี 2562 อีกทั้งยังเชื่อมั่นว่า สินค้าส่งออกของไทยที่มีความหลากหลายและความสามารถทางการแข่งขันในระดับสูง จะเป็นโอกาสในการเร่งผลักดันการส่งออก และสนับสนุนให้การส่งออกไทยมีความยืดหยุ่นและรับมือความผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงภายนอกได้ดีขึ้น รวมทั้งผลักดันให้การส่งออกไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย สร้างความเข้มแข็งและรายได้ไปจนถึงเศรษฐกิจฐานราก
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 6.8 (YoY) โดยสินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่
- สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวเกือบทุกตลาด ขยายตัวร้อยละ 29.1 (ขยายตัวในตลาดจีน เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย)
- ทองคำ ขยายตัวร้อยละ 240.8 (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง)
- อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ ขยายตัวร้อยละ 21.1 (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา สิงคโปร์ สหรัฐฯสวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี)
- เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวดีเกือบทุกตลาด ขยายตัวร้อยละ 33.7 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฮ่องกง อินเดีย และเม็กซิโก)
สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่
- รถยนต์และส่วนประกอบ หดตัวเกือบทุกตลาดร้อยละ 8.9 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และเม็กซิโก แต่ยังขยายตัวในตลาดเวียดนาม และญี่ปุ่น)
- เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 4.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง และมาเลเซีย แต่ยังขยายตัวในตลาดเนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น)
- แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 8.8 (หดตัวในตลาดฮ่องกง จีน เยอรมนี และไต้หวัน แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสิงคโปร์ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น)
- เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 40.2 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ และมาเลเซีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม และเกาหลีใต้)
ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2561 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมยังขยายตัวร้อยละ 7.9
การส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ส่วนมากปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 7.1 ซึ่งการส่งออกไป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยขยายตัวร้อยละ 18.7 และ 7.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการส่งออกไปสหภาพยุโรปหดตัวจากปัจจัยชั่วคราวที่ร้อยละ 4.1 ขณะที่การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงขยายตัวในอัตราสูงที่ร้อยละ 13.2 ซึ่งตลาดส่วนใหญ่ขยายตัวในระดับ 2 หลัก โดยเฉพาะการส่งออกอินเดีย CLMV และอาเซียน 5 ขยายตัวร้อยละ 12.0 18.2 และ 24.4 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปจีนกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 ด้านตลาดศักยภาพระดับรองหดตัวที่ร้อยละ 3.7 เนื่องจากการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลางและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 2.0 6.0 7.4 และ 38.8 ตามลำดับ นอกจากนี้การส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์กลับมาขยายตัว หลังจากหดตัวสูงในเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงผลกระทบทางลบของราคาทองคำได้หมดไปแล้ว
- ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 7.2 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น อย่างไรก็ตามสินค้าที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากทุกประเทศ อย่าง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์ ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.2
- ตลาดสหภาพยุโรป (15) หดตัวร้อยละ 4.1 เนื่องจากปัจจัยชั่วคราวตามการหดตัวของสินค้าอากาศยาน ซึ่งในปีก่อนหน้ามีฐานสูง อย่างไรก็ตามสินค้าสำคัญอื่นๆ ยังขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ คอมพิวเตอร์ และไก่แปรรูป ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.6
- ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 18.7 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 1 ไปตลาดญี่ปุ่นในเดือนนี้ รวมทั้ง เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลฯ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัว ร้อยละ 15.2
- ตลาดจีน กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.0 หลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันที่ยังขยายตัวในระดับสูง รวมทั้งการขยายตัวของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว และผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.8
- ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 18.2 เป็นการขยายตัวในระดับ 2 หลัก ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ (โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดเวียดนามขยายตัวสูงถึงร้อยละ 173) น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และ เครื่องจักรกลฯ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 19.3
- ตลาดอาเซียน-5 ขยายตัวร้อยละ 24.4 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปสิงคโปร์ขยายตัวสูงถึง 72.8 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูงในตลาดอาเซียน-5 ได้แก่ น้ำตาลทราย (+ร้อยละ 643) น้ำมันสำเร็จรูป (+ร้อยละ 50) อัญมณีและเครื่องประดับ (+ร้อยละ 339) และ ข้าว (+ร้อยละ 159) เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 15.5
- ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 17.1 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องเทศและสมุนไพร (+ร้อยละ 1,124)เคมีภัณฑ์ ปูนซีเมนต์ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ และ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 17.6
- ตลาดรัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 38.8 เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลฯ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.4
- ตลาดลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 6.0 โดยเฉพาะการส่งออกไปอาร์เจนตินาที่หดตัวร้อยละ 22.9 จากผลกระทบของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการอ่อนค่าอย่างรุนแรงของอัตราแลกเปลี่ยน โดยสินค้าที่หดตัวในตลาดลาตินอเมริกา ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาป และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และแผงวงจรไฟฟ้า ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.0
- ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัวร้อยละ 2.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศฯ และ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เคมีภัณฑ์ และ น้ำมันสำเร็จรูป ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.5
- ตลาดตะวันออกกลาง 15 หดตัวร้อยละ 7.4 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2561 หดตัวร้อยละ 2.6
แนวโน้มการส่งออกปี 2561
กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกในปี 2561 จะยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 8 ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ยังเติบโตต่อเนื่องในไตรมาส 3/2561 อาทิ สหรัฐฯ ที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวแข็งแกร่งจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน เป็นผลดีต่อการส่งออกไทยในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคและการเติบโตของภาคธุรกิจที่ยังได้รับอานิสงฆ์จากมาตรการลดภาษี สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น เศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่ามีแนวโน้มชะลอลงบ้างจากปัจจัยภายในประเทศ ตลาดอาเซียน ที่มีแนวโน้มการขยายตัวสูงและเป็นอีกหนึ่งตลาดศักยภาพที่มีบทบาทสูงต่อภาพรวมการส่งออกไทยในระยะหลัง เศรษฐกิจและการค้าโลกเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2562 อาจส่งผลต่อการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการและนักลงทุนยังอยู่ในระยะปรับตัวต่อความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า โดยมีสัญญาณการชะลอตัวของการลงทุน สะท้อนจากตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(Manufacturing Purchasing Managers’ Indices) ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศเกิดใหม่ นอกจากนี้ การตอบโต้ทางการค้าของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงจะส่งผลบวกต่อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันน้อยกว่าระยะที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์พร้อมผลักดันการส่งออกในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2561 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการขยายตัวของการส่งออกในประเทศกลุ่มอาเซียน และ CLMV มากขึ้น และอาจทดแทนการส่งออกที่หดตัวลงในภูมิภาคอื่นๆได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการขยายความร่วมมือทางการค้าในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และพยายามเพิ่มบทบาททางการค้าของประเทศไทยในฐานะที่ประเทศไทยที่จะได้รับเกียรติเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 เพื่อรองรับการเติบโตในภูมิภาคต่อไป พร้อมทั้งเตรียมรับมือผลกระทบจากสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่องต่อไปในปี 2562
อ่านต่อ
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยในเดือนกันยายน 2561