084-หุ้น-นักลงทุน-รายย่อย-ชำระค่าหุ้น

ก.ล.ต.รื้อเกณฑ์คุม “หุ้นกู้เสี่ยงสูง” ปิดประตูรายย่อยลงทุน-สถิติผิดนัดชำระพุ่ง

อัปเดตล่าสุด 23 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 760 Reads   

ก.ล.ต.เตรียมเฮียริ่งปรับเกณฑ์คุมเข้มหุ้นกู้เสี่ยงสูง “ไม่มีเรตติ้ง-เครดิตต่ำกว่า BBB” ปิดประตูรายย่อยลงทุนลง ให้นักลงทุนสถาบัน-กรรมการบริษัทลงทุนเท่านั้น หลัง 7 เดือนแรกพบหุ้นกู้ผิดนัดชำระกว่า 1.7 พันล้านบาท ยกระดับ “โบรกเกอร์-แบงก์” ต้องทำโปรดักต์สกรีนนิ่งก่อนขาย พร้อมเพิ่มความเข้มงวดติดตามผู้ออกหุ้นกู้
 
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากที่สถานการณ์ผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้เอกชน (หุ้นกู้) เริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 62) พบว่า มีหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด 5 ตราสาร มูลค่ารวม 1,712 ล้านบาท จาก 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท พี-มาร์ท ซุปเปอร์ สโตร์ (PMART) บริษัท โอพีจีเทค (OPGT) บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (IWIND) และ บมจ.พีพี ไพร์ม (PPPM) โดยตั้งแต่ปี 2559 หุ้นกู้มีการผิดนัดชำระหนี้ทั้งสิ้น 1.95 หมื่นล้านบาท

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.เตรียมปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลการออกจำหน่ายตราสารหนี้เอกชนที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ตราสารหนี้ที่เครดิตต่ำกว่า BBB (noninvestment grade) และตราสารหนี้ที่ไม่มีเรตติ้ง (nonrated) จากปัจจุบันที่อนุญาตให้กลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนวงจำกัดไม่เกิน 10 คน (PP10) และผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) ลงทุนได้ แต่เกณฑ์ใหม่จะให้เพียงผู้ลงทุนสถาบัน และกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทที่ออกหุ้นกู้เท่านั้นที่สามารถลงทุนได้ โดย ก.ล.ต.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับเกณฑ์ใหม่ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 62

“เมื่อปี’59 ที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้สูง ก.ล.ต.ได้ออกเกณฑ์คุมการขายตราสารหนี้เสี่ยง โดยยกเว้นในกลุ่ม PP10 เพราะเห็นว่าเป็นการขายในวงแคบ แต่ปัจจุบันเมื่อดูไส้ในพบว่า ตราสารหนี้เสี่ยงกว่าครึ่งถูกขายให้กับกลุ่ม PP10 ดังนั้น จากเดิม PP10 กำหนดให้ขายใครก็ได้ไม่เกิน 10 คน แต่เกณฑ์ใหม่จะขายได้แค่ 2 กลุ่มเท่านั้น คือ กรรมการและผู้บริหารบริษัทที่ออกหุ้นกู้” นางสาวจอมขวัญกล่าว

โดยจากข้อมูลพบว่า ตราสารหนี้เสี่ยงคิดเป็นประมาณ 6% ของตราสารหนี้ทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 2 แสนล้านบาท และตราสารเสี่ยงจำนวนมาก ถือโดยกลุ่ม HNW 49% มูลค่ารวม 1.13 แสนล้านบาท ขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันถือตราสารเสี่ยงเพียง 16% มูลค่า 3.69 หมื่นล้านบาท ตรงข้ามกับต่างประเทศที่ตราสารเสี่ยง ๆ จะถือโดยนักลงทุนสถาบันเป็นส่วนใหญ่ เพราะสถาบันมีแขนขาที่จะทำการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะกิจการก่อนเข้าลงทุน แต่เมืองไทยกลายเป็นรายย่อยที่เข้าไปลงทุนค่อนข้างเยอะ

นอกจากนี้ พบว่า ช่องทางเสนอขายตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง 87% มาจากบริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่ขายผ่านธนาคาร 13% เท่านั้น ทั้งพบว่า โบรกเกอร์เป็นผู้เล่นหลักที่เสนอขายตราสารความเสี่ยงสูงให้แก่ผู้ลงทุนรายบุคคล ขณะที่ตราสารหนี้คุณภาพดีขายผ่านธนาคารสูงถึง 97% และผ่านโบรกเกอร์เพียง 3%

นางสาวจอมขวัญกล่าวอีกว่า ก.ล.ต.ยังเพิ่มความเข้มแข็งของระบบนิเวศในการเสนอขายตราสารหนี้ ทั้งในส่วนผู้ออกหุ้นกู้จะต้องเพิ่มรอบการส่งงบการเงิน ในส่วนอย่างแบงก์และโบรกเกอร์ที่ต้องทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ (product screening) มากขึ้น ทั้งให้ปรับปรุงข้อมูลสำคัญของตราสาร (factsheet) ให้อ่านง่ายและชี้ความเสี่ยงของตราสารที่ออกให้ชัดเจน รวมทั้งปรับกระบวนการทำงานภายในองค์กรในการติดตามผู้ออกตราสารหนี้ให้เข้มขึ้น และในปีนี้ ก.ล.ต.เตรียมเข้าตรวจสอบวิธีการจัดอันดับเครดิตในสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้วย

“การออกตราสารเสี่ยงที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง แต่ไม่ใช่ เพราะ ก.ล.ต.ออกเกณฑ์คุม แต่มาจากการผิดนัดชำระหนี้ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน”
ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า การที่ ก.ล.ต.คุมเข้มหุ้นกู้เสี่ยงสูง คงต้องการเพิ่มการปกป้องนักลงทุน การเสนอขายกับนักลงทุนวงจำกัดไม่เกิน 10 คน เดิมสามารถขายกลุ่ม HNW ได้ หากขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์หรือธนาคารพาณิชย์ ที่ช่วยในการสกรีนคนซื้อและให้ข้อมูลได้ระดับหนึ่ง แต่เกณฑ์ใหม่ถึงแม้ว่าจะเป็นการเสนอขายให้กับนักลงทุน PP10 ซึ่งเดิมไม่ต้องยื่นไฟลิ่ง แต่ต่อไปจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลผ่านการยื่นไฟลิ่งด้วย เพื่อให้ข้อมูลชัดเจนยิ่งขึ้น

“ต่อไปจะไม่ได้ลัดขั้นตอนเหมือนเมื่อก่อน ที่จะใช้ช่องของนักลงทุน PP10 ที่ทำให้ง่ายและรวดเร็ว เข้าใจว่า ก.ล.ต. กังวลว่าจะใช้หลักอันนี้ไปขายกับนักลงทุนรายใหญ่ที่ยังไม่มีความเข้าใจเพียงพอ จึงต้องเพิ่มความเข้มตรงนี้ขึ้นมา ซึ่งเราเริ่มเห็นการผิดนัดชำระหนี้หลายบริษัท ตั้งแต่ปี 2560 อย่างไอเฟคและเอิร์ธ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กระทั่งมาปีนี้ก็มีพีพีพีเอ็ม ก็เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดล้วนขายให้กับ HNW ไม่มีใครออกขายให้ประชาชนทั่วไป แม้คนที่ซื้อได้จะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ แต่ก็ยังมีความกังวลว่าจะเกิดความเสียหายจากความไม่เข้าใจที่เพียงพอว่าจะมีความเสี่ยง” นางสาวอริยากล่าว

และว่า ผลจากคุมเข้มของ ก.ล.ต.อาจจะส่งผลกระทบกับทางผู้ออก (issuer) หุ้นกู้อยู่บ้าง เพราะเกณฑ์เข้มงวดขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของนักลงทุน