083-อุตสาหกรรม-ก่อสร้าง-รับเหมา-แนวโน้ม

รัฐเงื้อง่าเมกะโปรเจ็กต์ฉุดตลาดรับเหมาหดตัว

อัปเดตล่าสุด 20 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 1,020 Reads   

สมาคมรับเหมาหั่นเป้าธุรกิจก่อสร้างเหลือ 3.25% จับตางบฯปี 63 ล่าช้า กระทบแผนลงทุนรัฐไม่ปล่อยโปรเจ็กต์กดปุ่มประมูล หวั่นจีนผูกขาดเหล็ก งานก่อสร้าง

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมูลค่าอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยอยู่ที่ 400,000 ล้านบาท คาดว่าจะยังมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ ของภาครัฐอยู่ ในปีนี้ตั้งเป้าอัตราเติบโตทั้งปีไว้ที่ 6.5% หากการลงทุนของภาครัฐไม่เกิด อาจจะทำให้เป้าลดเหลือแค่ 3.25%

“ถ้าภาครัฐลงทุนโครงการ 50% เอกชนก็จะลงทุนตามมาอีก 50% ยกตัวอย่าง รถไฟฟ้าสารพัดสี ถ้าสร้างเสร็จ จะเห็นว่าเอกชนจะไปทำโครงการเกาะแนวเส้นทางทันที ไม่ว่าจะคอนโดมิเนียมหรือห้างสรรพสินค้า หรือถ้าในต่างจังหวัด มีการสร้างถนนหรือมอเตอร์เวย์สายใหม่ เอกชนก็จะทำโรงงานอุตสาหกรรม”

อย่างไรก็ตาม กำลังจับตามองว่าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในส่วนของงบฯลงทุน 20% จากงบฯรวมทั้งหมด เป็นการลงทุนในส่วนงานใด สภาจะให้ผ่านหรือไม่ และจะลงทุนจริงจังแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาเห็นแต่การประกาศว่าจะทำ แต่ยังไม่เห็นการอนุมัติโครงการจริง ๆ ยังต้องจับตาดูนโยบายอื่น ๆ เช่น ขึ้นค่าแรง, ควบคุมดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้สูงขึ้น

ซึ่งมีผลกับการขึ้นค่าแรงมากและขอให้ต่อยอดนโยบายเดิม เช่น การเที่ยวเมืองรอง เพราะเมื่อมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองรองมาก รัฐจะทำโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม ทำให้เอกชนเห็นลู่ทางในการลงทุน

รวมถึงเรื่องการกำหนดราคากลางในการประมูลงาน อยากให้รัฐอัปเดตให้ทันสมัย เพราะบางโครงการศึกษามานาน พอได้รับอนุมัติ ผลศึกษาเดิมก็ล้าสมัยไปแล้ว ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างอยากให้แยกสองอย่างนี้ออกจากกัน เพราะความคล่องตัวไม่เหมือนกัน “การจ้าง” จะมีเงื่อนไขมากกว่า “การจัดซื้อ” โดยเฉพาะภาระด้านสิ่งแวดล้อม

ส่วนปัจจัยภายนอกที่อาจจะมากระทบ คือ ราคาเหล็กที่ต้องใช้ในประเทศ ที่กำลังมีปัญหาเรื่องเหล็กนำเข้าจากจีน เพราะเมื่อต้นปี บริษัท Hebsteel HBIS Global Holding Pte.Ltd. (HBIS) จากประเทศจีนเข้ามาควบรวม บมจ.ทาทา สตีล (ประเทศไทย) ทำให้ผู้รับเหมากำลังจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าจีนเข้ามาควบคุมตลาดในประเทศ อาจจะทำให้มีอำนาจกำหนดราคาเหล็กภายในประเทศได้

และยังพบว่า ใน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ได้ตัดถ้อยคำ “สินค้าที่ได้แหล่งกำเนิด (local content)” ออก สมาคมจึงต้องการผลักดันให้สนับสนุนการใช้สินค้าของไทย โดยให้ใส่การใช้สินค้าที่ได้จากแหล่งกำเนิด

รัฐทำรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ให้จีนเป็นแกนนำ ก็เริ่มกังวล ถ้าเข้ามาร่วมทุน หรือมาขายของ จะดีกว่านี้”

นอกจากนี้ สมาคมยังกังวลการที่ผู้รับเหมาจากต่างประเทศเข้ามาประมูลงาน โดยเฉพาะจีนมาแข่งขันกับผู้รับเหมาไทยในหลายโครงการ อยากให้รัฐแก้กฎหมายให้เอื้อผู้ประกอบการไทยมากกว่านี้ ต้องลดสัดส่วนต่างประเทศลงเหลือ 40%