ผู้ส่งออกไม่หวั่นประท้วงฮ่องกง ฟันธงวุ่นวายแค่ระยะสั้น-ขนส่งไม่สะดุด

อัปเดตล่าสุด 19 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 480 Reads   

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง ประจำประเทศจีน (ทูตพาณิชย์ฮ่องกง) ระบุว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา มีกลุ่มคนฮ่องกงรวมตัวกันชุมนุมประท้วง ณ สภานิติบัญญัติฮ่องกง Tim Mei Avenue ย่าน Admiralty เพื่อคัดค้านกับร่างกฎหมายอนุญาตส่งตัวผู้ต้องสงสัยข้ามแดนไปดำเนินคดีในจีนในคดีอาชญากรรมร้ายแรง ทั้งนี้ มีการประเมินว่ามีจำนวนผู้เข้าร่วมการประท้วงครั้งนี้ ประมาณ 1.03 ล้านคน กระทั่งเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ประธานสภานิติบัญญัติฮ่องกงประกาศเลื่อนการประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนดอาจจะไม่มีการพิจารณาในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงนัดชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 16 มิ.ย.นี้


“แม้ว่าสถานการณ์การชุมนุมและการปะทะกันอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง (สคต.ฮ่องกง) และภาคเอกชนและธนาคารหลายแห่งในย่าน Admiralty ทยอยปิดให้บริการ แต่ในส่วนสถานกงสุลใหญ่ และ สคต.ฮ่องกง ยังคงเปิดทำการปกติ แต่อาจมีความยากลำบากในการเดินทางออกจากสำนักงาน และจากการที่ สคต.ฮ่องกง สอบถามนักธุรกิจรายใหญ่ของฮ่องกงในหลายสาขา อาทิ ข้าว อาหาร อัญมณี ยังคงมั่นใจว่าการชุมนุมดังกล่าวจะเป็นเพียงเหตุการณ์ระยะสั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าการส่งออก และการขนส่ง รวมถึงเศรษฐกิจของฮ่องกง แต่หากเหตุการณ์ยืดเยื้ออาจจะมีปัญหากับการบริโภคภายในประเทศ”


ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า เหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้น ทางสมาคมได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เบื้องต้นจากการติดตามผู้ส่งออกในกลุ่มอาหารยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างไร ขณะที่ท่าเทียบเรือในการส่งออก นำเข้าสินค้าของฮ่องกง ก็ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างไร ทำให้การส่งออกไปตลาดฮ่องกงยังเป็นไปตามปกติ และการส่งผ่านฮ่องกงไปประเทศอื่นโดยเฉพาะจีน ก็ไม่ได้รับผลกระทบ ยังมีการดำเนินการส่งมอบตามคำสั่งซื้อเป็นไปตามปกติ แต่ยอมรับว่าในบริเวณที่เกิดเหตุการณ์ประท้วง การขนส่งก็ได้รับผลกระทบบ้าง แต่บริเวณโดยรอบไม่มีปัญหา


สำหรับสินค้าหลักที่ส่งออกไปฮ่องกง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลไม้สด แปรรูป แช่เย็นและแช่แข็ง ซึ่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียน ลำไย และมังคุด โดยการส่งออก 4 เดือนแรกขยายตัว 61.15% มีมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ส่วนสินค้ารองลงมา เช่น ข้าว น้ำตาล ไก่แปรรูป และผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี ยังส่งออกไปได้อย่างต่อเนื่อง มีเพียงข้าวและน้ำตาลลดลงบ้าง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร อย่างไรก็ดี มองว่าการค้าการส่งออกระหว่างประเทศไม่น่าจะมีผลกระทบ แต่อาจจะมีผลบ้างสำหรับผู้ประกอบการ นักธุรกิจฮ่องกง หรือนักลงทุนที่มีผลต่อความเชื่อมั่น


ขณะที่นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกข้าวไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ประท้วงที่ฮ่องกง โดยการส่งออกยังเป็นไปตามปกติ จากการสอบถามผู้นำเข้าก็ยังไม่ได้แสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ โดยมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงระยะสั้น


ทั้งนี้ ฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิเป็นหลัก แต่ปัจจุบันปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิลดลง เนื่องจากค่าบาทแข็งค่าส่งผลให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้สัดส่วนตลาดข้าวหอมมะลิไทยในตลาดฮ่องกงอยู่ที่ 50% คู่แข่งที่มีราคาต่ำกว่าแย่งส่วนแบ่งตลาดไปเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลสถานการณ์การส่งออกข้าวหอมมะลิอย่างใกล้ชิดต่อไป