เหตุโจมตีโรงกลั่นน้ำมันซาอุฯ ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก

อัปเดตล่าสุด 18 ก.ย. 2562
  • Share :

“บลูมเบิร์ก” รายงานว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังการโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของ “ซาอุดิอาระเบีย” เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมากำลังซ้ำเติมภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยหากราคาน้ำมันยังคงสูงเป็นเวลานาน ก็จะยิ่งกัดกร่อนเสถียรภาพของภาคธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน้ำมันทั่วโลก ซึ่งมีความเปราะบางอยู่แล้วจากความต้องการบริโภคน้ำมันทั่วโลกที่ลดลง อันมีสาเหตุมากจาก “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และการเติบโตของโรงไฟฟ้าในจีนและเยอรมนี
 
“Rob Subbaraman” หัวหน้าฝ่ายวิจัยมหภาคที่บริษัท Nomura Holdings Inc. ของสิงคโปร์กล่าวว่า “อุปทานติดลบเช่นนี้เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ ท่ามกลางการเติบโตทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัวและความขัดแย้งในหลายภูมิภาคกำลังคุกรุ่น”
ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นขณะนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ข้อมูลล่าสุดของจีนเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมตกต่ำสุดนับแต่ปี 2002 ขณะที่ “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกเหลือ 3.2% ในปีนี้และ 3.5% ในปี 2020 ซึ่งนับว่าตกต่ำที่สุดนับจากปี 2009

ทั้งนี้ “ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่” อย่างอินเดียและแอฟริกาใต้จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูง ด้วยความจำเป็นที่ต้องนำเข้าน้ำมันในปริมาณมากส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนมหาศาล และทำให้สกุลเงินอ่อนตัวลง
ขณะที่ “ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน” จะได้รับประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ส่วน “ประเทศผู้บริโภคน้ำมัน” ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทั้งจากราคาน้ำมันและการขนส่ง ซี่งจะกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันภายในประเทศ อย่างจีนในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกมีความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันภายในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น

ไม่เพียงความต้องการน้ำมันของแต่ละประเทศเท่านั้น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นยังจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันทั่วโลกที่อ่อนแออยู่แล้ว “Louis Kuijs” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียที่ Oxford Economics ในฮ่องกงระบุว่า “การผลิตน้ำมันที่ลดลงและราคาที่สูงขึ้นจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และทำให้การใช้จ่ายในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจอ่อนแอเช่นนี้ลดลงไปด้วย”

ด้าน “David Mann” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Standard Chartered Plc ในสิงคโปร์ชี้ว่า เหตุการณ์ในซาอุอีอาระเบียอาจส่งผลให้ ธนาคารกลางของหลายประเทศผ่อนคลายนโยบายทางการเงินอีกด้วย