เศรษฐกิจติดหล่มการเมือง
ผ่านไปเกือบ 1 เดือนเต็มหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทิศทางการเมืองยังไม่ชัดเจน แถมคาดเดาได้ลำบากว่าจะลงเอยอย่างไร เป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นทั้งในการบริโภค การลงทุน
ความวิตกกังวลในความไม่แน่นอน สะท้อนได้จากมุมมองของนักวิชาการ นักวิเคราะห์จากหลายสำนัก ที่เห็นชัดเจนคือการหั่นเป้าหมายการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปีนี้ลงจาก 3.5-4.8% เหลือ 3.5-4.0% แม้ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยลบเศรษฐกิจโลกที่ยังมีปัญหา อาทิ สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในฐานะเป็นคู่ค้า และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักของไทย รวมทั้งเบร็กซิตที่ยังไร้ข้อสรุป
แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองเวลานี้ที่ยังไม่นิ่งมีส่วนอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมในทางเศรษฐกิจ การชะลอเลื่อนแผนลงทุนยังมีต่อเนื่อง
การเลือกตั้งภายในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งถูกคาดหวังว่าจะนำพาประเทศก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้โดยเร็ว ปลุกความเชื่อมั่นให้ฟื้นคืนกลับมา นักธุรกิจ นักลงทุนทั้งไทย ต่างชาติมั่นใจมากขึ้น พร้อมเดินหน้าลงทุนโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ จึงค่อนข้างเลือนรางและยังห่างไกลความเป็นจริง
ขณะเดียวกัน นอกจากหลายหน่วยงาน องค์กรจะทยอยปรับลดประมาณการขยายตัวของ GDP ลงจากก่อนหน้านี้แล้ว ดัชนีชี้วัดการลงทุน การบริโภคทั้งภาครัฐและเอกชนก็มีแนวโน้มปรับลดลง ส่งให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนลดน้อยลงด้วย
ท่ามกลางความสุ่มเสี่ยงจากปัจจัยลบสถานการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนี้ที่ยังอ่อนไหว ทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันสามารถรับมือกับความผันผวนไม่แน่นอนจากภายนอกได้ การเมืองนิ่ง กลไกเศรษฐกิจขับเคลื่อนอย่างมีเสถียรภาพ เป็นคำถามที่รัฐบาล นักการเมือง รวมทั้งคนไทยทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขบคิด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้โจทย์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ให้นักธุรกิจนักลงทุนมองเห็นทิศทางการเมืองไทยชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ อย่าปล่อยให้เกิดสุญญากาศ ทุกอย่างตกอยู่ในสภาพอึมครึม ซ้ำเติมเศรษฐกิจ กำลังซื้อ การค้า การลงทุนที่ชะลอตัวอยู่แล้วให้ย่ำแย่ลงอีก
ถ้าเป็นอย่างนั้นนอกจากคนระดับกลางระดับล่างจะตกที่นั่งลำบากมากกว่าเดิมแล้ว ความเชื่อมั่นจะยิ่งจมดิ่ง กระทบการลงทุน การท่องเที่ยว เศรษฐกิจหลังเลือกตั้งแทนที่จะได้อานิสงส์การเมืองหนุนให้โตตามเป้า ก็กลายเป็นติดหล่ม…ดิ้นไม่หลุด