“บิ๊กตู่” นำขบวน 10 ผู้นำอาเซียน เร่ง RCEP เปิดเสรีแก้เกมสงครามการค้า

อัปเดตล่าสุด 18 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 345 Reads   

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 34 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2562 มีกำหนดจะประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษ (AEM) ในช่วงค่ำวันที่ 21 มิถุนายน และช่วงเช้าของวันที่ 22 มิถุนายน 2562 เพื่อหารือกำหนดท่าทีร่วมอาเซียนในการผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้สำเร็จภายในปีนี้ตามเป้าหมายที่ผู้นำวางไว้ ก่อนที่จะมีการประชุมระดับสุดยอดผู้นำอาเซียนอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้ภูมิภาครับมือสงครามการค้าซึ่งหลังจากนี้จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรี RCEP ในเดือนสิงหาคมที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ และมีกำหนดจัดที่ไทยอีก 2 ครั้งในเดือนกันยายนและพฤศจิกายน


“ขณะนี้มีผู้นําตอบรับเข้าร่วมการประชุม 10 ประเทศ แม้ประเทศ ไทย อินโดนีเซีย จะมีการเลือกตั้งและเปลี่ยนรัฐบาล แต่เชื่อว่านโยบายด้านเศรษฐกิจจะยังคงเดินหน้าต่อเนื่องโดยไม่สะดุด โดยเฉพาะการเร่งผลักดัน RCEP รวมถึงยุทธศาสตร์ส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้เป็นไปตามเป้าหมาย ในปีนี้จะเห็นข้อสรุป RCEP ที่ชัดเจน และอาจมีการลงนามข้อตกลงร่วมกันภายในปี 2563 ยอมรับว่าขบวนการอาจจะต้องมีการหารือภายในประเทศของแต่ละประเทศเพื่อขอความเห็นชอบในข้อตกลงด้านการค้าการลงทุนหรือการร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ก่อนที่จะมาหารือเพื่อสรุปผลในการผลักดันต่อไป” นางอรมนกล่าว


พร้อมกันนี้ ผู้นำอาเซียนมีกำหนดจะพบหารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ช่วงบ่ายวันที่ 22 มิถุนายน 2562 โดยฝ่ายไทยมีนายอรินทร์ จิรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธาน โดยคาดว่า ASEAN-BAC จะเสนอประเด็นให้ผู้นำอาเซียนเร่งพัฒนาแรงงานทักษะ/ผู้ประกอบการวิชาชีพอาเซียน เพื่อรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4การพัฒนา SMEs การปรับปรุงกลไกการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน โดยจะเสนอผลการจัด Symposium on AHEAD ในวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ให้ผู้นำรับทราบด้วย


สำหรับการรับตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยปีนี้ ไทยเสนอแนวคิด Advancing Partnership for Sustainability ซึ่งในส่วนเศรษฐกิจประกอบด้วย 3 ด้าน 13 ประเด็น ได้แก่ 1) การเตรียมอาเซียนรับมืออนาคต อาทิ การจัดทำแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัล นวัตกรรม จัดทำแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับ 4IR ส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อย 2) ความเชื่อมโยง อาทิ การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนให้ครบ 10 ประเทศ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร 3) การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ อาทิ การประมงที่ยั่งยืน การดำเนินความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพของอาเซียน ซึ่งที่ประชุม AEM Retreat ครั้งที่ 25 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่ จ.ภูเก็ต ได้ให้ความเห็นชอบทั้ง 13 ประเด็นแล้ว


ทั้งนี้ ในปี 2561 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียน เท่ากับ 100,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.4% จากปีก่อน โดยไทยส่งออกไปอาเซียน 59,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน 41,100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น สินค้านำเข้า เช่น น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น