อีไอซีมองเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องแม้จะชะลอลงบ้าง แนะเตรียมรับมือสงครามการค้าและดอกเบี้ยขาขึ้น

อัปเดตล่าสุด 16 ต.ค. 2561
  • Share :
  • 354 Reads   

อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2561 ขยายตัวที่ 4.5%YOY ก่อนจะชะลอตัวมาอยู่ที่ 4.0%YOY ในปี 2562 ภาวะเศรษฐกิจในช่วงปี 2561 ได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ด้านต่างประเทศอย่างต่อเนื่องทั้งการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งเริ่มส่งผลดีต่อรายได้และการจ้างงานชัดเจนขึ้น โมเมนตัม การเติบโตดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในช่วงที่เหลือของปีนี้แม้จะชะลอลงบ้างตามปัจจัยฐานสูงในปีก่อนหน้า และการชะลอลงของภาวะการค้าโลก

สำหรับปี 2562 อีไอซีประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 4.0%YOY ชะลอลงจากปีก่อนหน้า แต่ยังถือว่าเป็นอัตราที่สูงสำหรับเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้าที่เติบโตเฉลี่ยต่ำกว่า 3% ต่อปี ทั้งนี้ การส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอลงตามเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญจากผลกระทบของสงครามการค้าและภาวะทางการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไทยจะเผชิญกับข้อจำกัดจากความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของสนามบินสำคัญต่างๆ ของไทย อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าการใช้จ่ายด้านการลงทุนในประเทศจะมีการขยายตัวที่เร่งขึ้นนำโดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น และสนับสนุนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว
 
รายได้ครัวเรือนไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะก่อนที่การใช้จ่ายจะกระจายตัวและเร่งตัวขึ้น
 แม้รายได้ครัวเรือนไทยจะมีการฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 โดยรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.7%YOY ขณะที่ค่าจ้างของกลุ่มแรงงานที่เป็นลูกจ้างเพิ่มขึ้น 2.4%YOY อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าการฟื้นตัวดังกล่าวยังไม่สามารถนำไปสู่การเร่งตัวของการใช้จ่ายได้รวดเร็วนัก เพราะรายได้ครัวเรือนเพิ่งเริ่มฟื้นตัว หลังจากรายได้เกษตรกรหดตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ขณะที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ค่าจ้างของกลุ่มลูกจ้างขยายตัวในอัตราต่ำเฉลี่ยน้อยกว่า 2% ต่อปี จึงทำให้รายได้ที่แท้จริงหลังหักเงินเฟ้อค่อนข้างทรงตัว


นอกจากนี้ ภาระหนี้ครัวเรือนของครัวเรือนไทยยังคงอยู่ในระดับสูงซึ่งยังเป็นปัจจัยถ่วงต่อการใช้จ่ายอยู่ ทั้งนี้ อีไอซีมองว่า ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แม้อัตราการว่างงานจะค่อนข้างต่ำสะท้อนถึงอุปทานส่วนเกินในตลาดแรงงาน (slack) ที่ยังมีอยู่ ดูได้จากจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยที่ลดลง การทำงานแบบล่วงเวลาที่ลดลง และสัดส่วนของจำนวนคนที่ว่างงานนานกว่า 6 เดือนที่มากขึ้น ซึ่งเป็นผลทั้งจากปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้าง อีไอซีมองว่า เศรษฐกิจจำเป็นต้องขยายตัวได้ดีและต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งก่อนจะเห็น slack ในตลาดแรงงานลดลงซึ่งจะทำให้ค่าแรงเร่งตัวขึ้น ทั้งนี้ ในระยะยาวต้องมีการยกระดับผลิตภาพของแรงงานไทยผ่านการเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี่ใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนให้รายได้ขยายตัวได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยกำลังจะเข้าสู่ช่วงขาขึ้น 
อีไอซีประเมินว่าจากแนวโน้มที่เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน จะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินจากภาวะดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องยาวนาน โดยจังหวะการขึ้นน่าจะเป็นในช่วงต้นปี 2562 หรืออย่างเร็วในช่วงปลายปี 2561 ขึ้นอยู่กับเงื่อนเวลาที่ กนง. จะมั่นใจว่าค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั่วไปในปี2561 จะอยู่ในกรอบเป้าหมาย
นอกจากนั้น อีไอซีมองว่าวัฏจักรขาขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปแตกต่างจากวัฏจักรขาขึ้นครั้งก่อนๆ สะท้อนระดับหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่สูงขึ้นมาก และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มเฉลี่ยต่ำกว่าในอดีต อีไอซีประเมินว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 2 ครั้งภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 โดยขึ้นครั้งละ 0.25% และไม่ขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันในทุกการประชุม เพื่อไม่ให้กระทบต่อโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมากเกินไป แต่จะใช้มาตรการดูแลรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ (macro-prudential) ในจุดที่มีความเปราะบางเพื่อจัดการกับปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินควบคู่ไปด้วย ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังจากนั้นจะขึ้นกับข้อมูลเศรษฐกิจและการสื่อสารของ กนง. ในระยะต่อไป

ทั้งนี้ อีไอซีประเมินว่า แม้เสถียรภาพเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและสภาพคล่องที่ยังมีอยู่มากในระบบการเงินของไทยจะเป็นตัวกันชนที่ช่วยลดผลกระทบจากภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นและความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยได้ระดับหนึ่ง แต่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีภาระหนี้ผูกพันกับดอกเบี้ยลอยตัวและธุรกิจที่มีการพึ่งพาการกู้ยืมสูงควรให้ความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยงจากต้นทุนการเงินที่อาจปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (yield snapback) และความเสี่ยงจากปัญหาในการต่ออายุหนี้ (rollover risk) อย่างเหมาะสม