แบงก์จับตาปม NPL ยังน่าห่วง หวั่นศก.ชะลอซ้ำเติม “เอสเอ็มอี”

อัปเดตล่าสุด 18 เม.ย. 2562
  • Share :
  • 804 Reads   

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ทางศูนย์วิจัยฯ ได้ทำประมาณการตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 2.95% ของสินเชื่อรวม ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 4/61 ที่อยู่ 2.93% (QOQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/61 ที่อยู่ 2.92% (YOY) โดยสาเหตุมาจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด และยังมีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นในกลุ่มที่เร่งซื้ออสังหาฯในช่วงที่ผ่านมา และตัวฉุดหลักยังอยู่ที่กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ดังนั้น หากปีนี้แนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเห็น NPL สูงขึ้นกว่าปีก่อนอีก

“โอกาสที่เอ็นพีแอลของธุรกิจเอสเอ็มอี หรือรายใหญ่จะดีขึ้นได้ จะต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจด้วย ซึ่งตอนนี้ยังประเมินแนวโน้มของปีนี้ไม่ได้ เพราะต้องรอดูตัวเลขเอ็นพีแอลของไตรมาส 1/61 ก่อน ประกอบกับแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยด้วย”

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า แนวโน้ม NPL โดยรวมของธนาคารพาณิชย์ ภายในสิ้นปีนี้ คาดอยู่ที่ 2.8% ของสินเชื่อรวม เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอลง แต่ก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่แย่นัก ประกอบกับช่วงระยะเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จะส่งผลต่อภาคธุรกิจเกิดปัญหา NPL ขึ้นมาได้ จะใช้เวลาส่งผ่านราว 4-6 ไตรมาส ดังนั้น ประเมินว่า NPL ปีนี้น่าจะดีขึ้น แต่ตัวเลขอาจจะดูยังอยู่ในระดับสูง

สำหรับธุรกิจที่ยังน่าเป็นห่วง คือ NPL ของธุรกิจเอสเอ็มอี ยังคงแย่ต่อเนื่อง เพราะกำลังซื้อโดยรวมของประเทศยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ในขณะที่ธุรกิจรายใหญ่มีการปรับตัวดีขึ้นชัดเจน เพราะเศรษฐกิจในช่วงระยะหลัง ๆ ส่งผลบวกต่อธุรกิจรายใหญ่ได้ประโยชน์สูง ซึ่งสะท้อนได้จากปีที่แล้ว ภาคการส่งออกที่เติบโตสูงนั้นพบว่า เป็นการส่งออกจากบริษัทใหญ่ สัดส่วนถึง 90% ของมูลค่าการส่งออกรวม

“ตอนนี้เห็นการฟื้นตัวของธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ยังไม่ได้กระจายไปในธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นซัพพลายเชน”
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการ LTV และมาตรการของสินเชื่อรถยนต์ที่ทาง ธปท.กำลังศึกษาอยู่นั้น นายนริศกล่าวว่า จะส่งผลกระทบต่อสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์ที่จะเกิดปัญหา NPL ในระยะข้างหน้าได้อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นธนาคารพาณิชย์จะตัดหนี้เสียออกขายให้แก่กลุ่มธุรกิจรับจ้างบริหารหนี้เสีย ซึ่งทำให้ NPL ของแบงก์ลดลง

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากการติดตามข้อมูลเบื้องต้นพบว่า NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมยังทรงตัว แต่ยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจ SMEs และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยังเป็น NPL เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สำหรับปี’62 ธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีนโยบายที่จะเก็บหนี้เสียไว้บริหารเอง ทำให้สัดส่วน NPL อาจยังเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่ได้สะท้อนคุณภาพหนี้ที่แย่ลง

ก่อนหน้านี้ นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์ สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกนี้ ธปท.จะเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงิน หลังจากที่เห็นการเร่งขึ้นของ NPL ค่อนข้างมากในปี 2561