056-สหรัฐ-ธุรกิจ-อุตสาหกรรม-ขนาดเล็ก

“ธุรกิจรายย่อย” เจ็บหนักกว่า ในศึก “สงครามการค้า”

อัปเดตล่าสุด 15 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 670 Reads   

มาตรการภาษีศุลกากรที่ตอบโต้กันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนใน “สงครามการค้า” ท่ามกลางความร้อนแรงที่เพิ่มขึ้น กำลังส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการธุรกิจของสหรัฐหลากหลายอุตสาหกรรม แต่สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ ด้วยขนาดธุรกิจที่ใหญ่และเครือข่ายที่กว้างขวาง ทำให้สามารถพยุงตัวผ่านช่วงเวลาตึงเครียดนี้ไปได้ ตรงกันข้ามกับธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่หลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาษีนี้ได้ยากกว่า
 
“ซีเอ็นเอ็น” รายงานผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนของรัฐบาลสหรัฐ ที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจขนาดเล็กของสหรัฐอย่างมาก เพราะทำให้ความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจและการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้ายากลำบากมากขึ้น “เดวิด เฟรนช์” รองประธานอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ สหพันธ์การค้าปลีกแห่งชาติของสหรัฐ ระบุว่า แม้การปรับขึ้นภาษีจะส่งผลต่อภาคธุรกิจทุกระดับ แต่ธุรกิจขนาดเล็กต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการหาสินค้าและวัตถุดิบจากแหล่งใหม่นอกประเทศจีน อีกทั้งยังไม่มีระบบการจัดเก็บสินค้าที่ดีเพียงพอ ที่จะนำเข้าสินค้าเพื่อกักตุน ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นอัตราภาษี

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้า ด้าน “ทิฟฟานี วิลเลียมส์” เจ้าของร้านขายกระเป๋าและอุปกรณ์เดินทางเพียงร้านเดียวในเมืองลับบ็อก รัฐเทกซัส ระบุว่า จีนคือเจ้าอุตสาหกรรมสินค้าท่องเที่ยว โดย 85% ของสินค้าภายในร้านมาจากจีน แต่หลังจากวันที่ 10 พ.ค. ที่รัฐบาลสหรัฐประกาศขึ้นภาษี 25% สินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมถึงกลุ่มกระเป๋าและอุปกรณ์เดินทางต่าง ๆ ส่งผลให้ทางร้านต้องปรับขึ้นราคาขายปลีก 25% อย่างกระเป๋าเดินทางจากเดิมราคา 400 ดอลลาร์สหรัฐ ต้องปรับขึ้นเป็น 500 ดอลลาร์สหรัฐทันที

การขึ้นราคาทำให้ร้านต้องเสียลูกค้าไปหลายราย “การขึ้นราคาเป็น 500 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ลูกค้าบางรายไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ หลายคนมองว่าราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด”  วิลเลียมส์กล่าว

ขณะที่ “ชารอน อีแวนส์” ซีอีโอ บริษัท ซีเอฟเจ แมนูแฟกเจอริ่ง ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชุดยูนิฟอร์ม ซึ่งกว่า 60-70%นำเข้าจากจีน ระบุว่า บริษัทดำเนินธุรกิจกับโรงงานในจีนมายาวนานตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ซึ่งบริษัทจะเริ่มหาแหล่งสินค้าใหม่นอกประเทศจีนในปีหน้า ซึ่งขณะนี้กำลังมองหาแหล่งสินค้าใหม่จากเวียดนามและโดมินิกัน
นอกจากสินค้ากลุ่มเสื้อผ้าและกระเป๋าเดินทางแล้ว การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบล่าสุดมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังได้กระทบถึงสินค้าอีกหลายประเภท ทั้งสมาร์ทโฟน รองเท้าผ้าใบ และชุดเครื่องนอน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหาร

“แลนซ์ รัตเทนเบิร์ก” ซีอีโอของ “อเมริกัน เทกซ์ไทล์” บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชุดเครื่องนอนให้กับร้านค้ากว่า 40,000 แห่งทั่วสหรัฐ ระบุว่า “สินค้าราวครึ่งหนึ่งของบริษัทผลิตและนำเข้าจากจีน ซึ่งบริษัทได้ไปลงทุนโรงงานในประเทศจีนเพื่อผลิตสินค้าส่งกลับมาขายที่สหรัฐ ทำให้เราไม่สามารถหาตัวเลือกอื่นมาแทนจีนได้ทันที ต้องจำยอมรับผลกระทบจากภาษีเหล่านั้น”

ขณะที่ธุรกิจนำเข้าผลไม้ ผลิตภัณฑ์อบแห้ง อย่างบริษัท “อิมลัก เอช ออร์แกนิกส์” (Imlak”esh Organics) ก็ได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น “ทักเกอร์ แกร์ริสัน” เจ้าของกิจการระบุว่า บริษัททำธุรกิจนี้มา 7 ปีแล้ว โดยนำเข้าผลไม้เกษตรอินทรีย์ต่าง ๆ อาทิ โกจิเบอรี่ (เก๋ากี้), โกลเด้นเบอรี่ (โทงเทงฝรั่ง) และซาชาอินชิ (ถั่วดาวอินคา) จากเกษตรกรทั่วโลก จัดจำหน่ายใน 28 รัฐทั่วอเมริกา โดยบริษัทมีการนำเข้าโกจิเบอรี่จากจีนมากกว่า 13 ตันต่อปี แต่ผลกระทบจากสงครามการค้าทำให้บริษัทจำเป็นต้องขึ้นราคาค้าปลีกผลไม้อบแห้งเหล่านี้ราว 25%

แกร์ริสัน ระบุว่า “โกจิเบอรี่เป็นสินค้าที่เกษตรกรอเมริกันไม่สามารถผลิตได้ ดังนั้นเราไม่มีทางเลือกเมื่อรัฐบาลทำให้ต้นทุนในการนำเข้าสูงขึ้น เราก็จำเป็นต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นตาม” โดยโกจิเบอรี่อบแห้ง 12 ออนซ์จะต้องปรับราคาขึ้นจาก 23.99 ดอลลาร์สหรัฐเป็น 28.99 ดอลลาร์สหรัฐ

“นี่เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากสำหรับทุกคน และน่าเศร้าใจอย่างยิ่งที่การขึ้นอัตราภาษีเหล่านี้ทำให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กบางรายต้องปิดตัวลง” แกร์ริสันกล่าวทิ้งท้าย