“ลาการ์ด” ว่าที่ประธาน ECB “ผู้หญิง” กับความหวังของ EU
ธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) ถือว่าเป็นองค์กรสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจยุโรป ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาภายในของสหภาพยุโรป (อียู) หลายประการ ทั้งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ต่ำ หนี้สินของอิตาลี และการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิต) ที่มีความไม่แน่นอนสูง
“ซีเอ็นเอ็น” รายงานว่า การประชุมคณะมนตรียุโรปได้เสนอชื่อบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งสำคัญของอียู หนึ่งในนั้นคือ “ประธานอีซีบี” โดยเสนอชื่อ “คริสติน ลาการ์ด” เพื่อให้รัฐสภายุโรปรับรองก่อนเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งตามกำหนดเธอจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 พ.ย. 2019
แม้ว่าปัจจุบันลาการ์ด จะดำรงตำแหน่งประธานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แต่เธอกลับไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ และยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการกำหนดนโยบายด้านการเงินระดับโลกมาก่อน แต่นั่นกลับเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์มองว่า “เป็นข้อดี” หากเธอเข้ามากำหนดทิศทางของอีซีบี
“จูเลีย โฮโรวิทซ์” นักวิเคราะห์ของซีเอ็นเอ็นบิสซิเนส ชี้ว่า ลาการ์ดมีความสามารถในการบริหารจัดการ มีสัญชาตญาณทางการเมืองทั้งระดับชาติและระหว่างประเทศ มีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับกลุ่มการเงินทั่วโลก และมีความสามารถติดต่อประสานงานสูง
“ลาการ์ด” เป็นชาวฝรั่งเศส สำเร็จการศึกษาและทำงานด้านกฎหมายแรงงาน และการต่อต้านการผูกขาดทางธุรกิจ ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งเป็น ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ระดับโลกที่เป็นผู้หญิงคนแรก ของสำนักงานทนายความระหว่างประเทศ “เบเคอร์แอนด์แมกเคนซี”
จากนั้นได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศส ระหว่างปี 2007-2011 ถือเป็นผู้หญิงคนแรกของกลุ่มประเทศจี 7 ท่ามกลางวิกฤตการเงินโลก
กระทั่งปี 2011 เธอกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานไอเอ็มเอฟจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ประสานงานช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งกรีซและอาร์เจนตินา
ลาการ์ดระบุว่า เธอจะต้องเข้ารับตำแหน่งประธานอีซีบี ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อยู่ใน “ช่วงเวลาที่ละเอียดอ่อน” เนื่องจากมีปัญหามากมายที่รุมเร้ากลุ่มประเทศยูโรโซน ทั้งอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำมาก ซึ่งเป็นสัญญาณการหดตัวทางเศรษฐกิจ อี
ซีบีคาดว่า จีดีพีของกลุ่มประเทศยูโรโซนในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1.2%
ขณะที่ยังมีอีกปัญหาใหญ่ คือ ปัญหาหนี้ของอิตาลีที่สูงถึง 132.2% ต่อจีดีพีในปี 2018 และไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าจะสูงถึง 135% ในปี 2020 การแก้ไขปัญหามีทั้งมาตรการรัดเข็มขัดที่อิตาลีไม่เคยปฏิบัติอย่างจริงจัง และการลดค่าเงินยูโรเพิ่มศักยภาพการส่งออกเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับอิตาลี แต่การลดค่าเงินยูโรจะต้องกระทบต่ออียูทั้งหมดด้วย
ก่อนหน้านี้ อีซีบีภายใต้การบริหารงานของ “มาริโอ ดรากี” ไม่ได้ร่วมมือกับรัฐบาลชาติสมาชิกอียู ในการมีส่วนร่วมในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังมากเท่าที่ควร ทำให้อีซีบีต้องแบกรับภาระนโยบายทางการเงินสูง
ทำให้หลายฝ่ายคาดหวังว่า ลาการ์ดจะสามารถรับมือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจอียูได้ โดยเฉพาะการร่วมมือกับผู้นำชาติสมาชิกอียู เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างการโน้มน้าวและกดดันรัฐบาลอิตาลีให้ดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดและลดเพดานภาษีลงอย่างจริงจัง ก่อนที่จะกระทบอียูทั้งหมด
ซึ่งการเสนอชื่อลาการ์ดเป็นประธานอีซีบีครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศของอียู ด้วยการคัดเลือกผู้หญิงที่มีความสามารถขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญ และอีกตำแหน่ง คือ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ได้มีการเสนอชื่อ “อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน” รัฐมนตรีกลาโหมของเยอรมนี
ทั้งนี้ “โดนัลด์ ทัสก์” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนปัจจุบันระบุว่า นี่คือ “ความสมดุลทางเพศที่สมบูรณ์แบบ” ถือเป็นการคัดเลือกบุคคลด้วยความสามารถที่แท้จริง โดยที่เรื่องเพศสภาพไม่ใช่ข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งสำคัญได้ นับว่าเป็นการก้าวไปอีกขั้นของความเท่าเทียมทางเพศในระดับโลก