053-สงครามการค้า-อินเดียปากี-ประท้วงฮ่องกง-เกาหลีญี่ปุ่น-เบร็กซิท

จับตา! 5 ประเด็นร้อน เขย่าเศรษฐกิจโลก

อัปเดตล่าสุด 13 ส.ค. 2562
  • Share :

สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลก ยังเป็นขาลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยมี “สงครามการค้า” ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ที่นานาประเทศมีความกังวลอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ยังมีสถานการณ์ที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นอีก ในวันนี้ (13 ส.ค.) “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวม 5 ประเด็นร้อนที่มีผลกระทบและสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลก รวมถึงมีนัยยะสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยด้วยเช่นกัน ดังต่อไปนี้
 
1. สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ

ความกังวลจากประเด็นความขัดแย้งทางการค้าของ 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก สร้างความวิตกมากขึ้น ขณะที่นักวิเคราะห์หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ “โกลด์แมน แซคส์” ที่ประเมินว่าสหรัฐและจีนไม่น่าจะบรรลุข้อตกลงการค้าได้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีหน้า พร้อมได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ลง 0.2% สู่ระดับ 1.8% จากที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ 2.0% ด้วยเหตุผลว่าสงครามการค้าจะฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้นอีก

ทั้งนี้ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนส่อแววว่าจะรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ทั่วโลกกำลังนับถอยหลังสู่วันที่ 1 ก.ย.ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นวันที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน 10% มูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังของสหรัฐเอง ได้ประกาศด้วยว่า “จีนเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงิน” ซึ่งสร้างความบาดหมางระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นอีก และถึงแม้ว่าทางการจีนจะยืนยันว่าไม่ได้แทรกแซงค่าเงินตามที่สหรัฐกล่าวหา แต่ก็ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ที่สะท้อนว่าทางการจีนพยายามอุ้มเงินหยวนไม่ให้อ่อนค่าลงไปมากกว่านี้ ซึ่งขณะนี้ค่าเงินหยวนอยู่ระดับต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ แตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนได้ตอบโต้สหรัฐด้วยการสั่งให้บริษัทของภาครัฐระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ ตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้กับนายทรัมป์ ระหว่างเวทีการประชุม G20 ที่นครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

REUTERS/Damir Sagolj/File Photo 

2. ข้อพิพาทแคชเมียร์ ระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน

ความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศเพื่อนบ้าน “อินเดีย-ปากีสถาน” ดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ ความไม่สงบในพื้นที่ “แคชเมียร์” เกิดขึ้นมานานแต่ไม่ได้รุนแรงขนาดที่สั่นคลอนความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูตระหว่างกันเป็นเวลานาน จนกระทั่งล่าสุด รัฐบาลชาตินิยมของอินเดียได้ประกาศยกเลิกสถานะเขตปกครองตนเองพิเศษของเเคว้นเเคชเมียร์ ซึ่งใช้สถานะดังกล่าวมานานหลายสิบปี จนทำให้ฝั่งปากีสถานโกรธเคืองและไม่พอใจ

อันเป็นเหตุให้รัฐบาลปากีสถานประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินเดีย สั่งขับไล่เอกอัครราชทูตอินเดียออกจากประเทศ นอกจากนี้ยังสั่งให้ระงับการค้าระหว่างสองประเทศ จากนั้นก็ยุติเส้นทางรถไฟที่เชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ และล่าสุด คือ การยกเลิกรถบัสเส้นทางกรุงนิวเดลี-ลาฮอร์ของปากีสถาน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของ บลูมเบิร์ก ระบุว่า มีโอกาสที่ความขัดแย้งของสองประเทศนี้จะลากยาวออกไปอีก ซึ่งหากมองในแง่ของผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังจากที่ระงับการค้าระหว่างกัน อาจส่งผลเสียต่อปากีสถานมากกว่าอินเดีย เพราะมูลค่าการค้า 2 ทางของทั้ง 2 ประเทศ ราว 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018 คิดเป็นสัดส่วนการค้ารวมของปากีสถานราว 3% แต่เป็นสัดส่วนเพียง 0.3% ของการค้าทั้งหมดของอินเดีย

ดังนั้น อีกหนึ่งวิธีการตอบโต้ที่ปากีสถานสามารถทำได้ ก็คือ การสั่งปิด “น่านฟ้า” เหมือนตอนที่เคยสั่งปิดในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากที่มีการปะทะกันทางอากาศระหว่างกัน จนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมการบิน โดยเส้นทางบินที่บินออกจากภูมิภาคเอเชียไปทวีปอื่น ต่างได้รับผลกระทบทั้งหมดจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

REUTERS/Fabrizio Bensch

3. การประท้วงในฮ่องกง

เหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงยังคงบานปลายและเข้าสู่สัปดาห์ที่ 11 จากชนวนความไม่พอใจต่อรัฐบาลฮ่องกง หลังจากที่ประกาศว่ากำลังพิจารณาใช้ร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยัง “จีนแผ่นดินใหญ่” ถึงแม้ว่านางแคร์รี ลัม ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ได้ประกาศยุติการพิจารณากฎหมายดังกล่าวแล้ว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังประท้วงต่อเนื่อง เพื่อกดดันให้ผู้นำสูงสุดของฮ่องกงลาออกจากตำแหน่ง

สถานการณ์ในฮ่องกงกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจว่าอาจจะถูก “ชัตดาวน์” เนื่องจากการประท้วงกำลังบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของฮ่องกง ในฐานะที่เป็น “ศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลก” นอกจากนี้ การประท้วงยังลุกคืบมาถึงธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการอื่นๆ หลังจากที่ผู้ประท้วงหลายพันคนปักหลักอยู่ที่ท่าอากาศยานอาคารขาเข้า เพื่อต้องการส่งสารไปถึงผู้มาเยือนว่า ฮ่องกงต้องได้รับการปลดปล่อยจากแผ่นดินใหญ่ และอิสรภาพในการปกครองตนเอง เป็นต้น

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจทั้งการเงิน อย่าง ธนาคาร HSBC ที่ประกาศระงับให้บริการในบางสาขาในฮ่องกงแล้ว ยังมีภาคธุรกิจอื่น ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า ที่แสดงความคิดเห็นตรงกันว่า การประท้วงในฮ่องกงกำลังทำลายเศรษฐกิจของฮ่องกงเอง เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวกำลังลดลง ไม่มีลูกค้าเดินห้าง ขณะที่นักลงทุนเริ่มระงับแผนการลงทุนชั่วคราว โดยสภาหอการค้าอเมริกา และยุโรป ยืนยันว่า นักลงทุนชะลอแผนการลงทุนในฮ่องกง และมองว่าสถานการณ์การประท้วงไม่ได้เป็นแค่ “ระยะสั้น” แต่จะยาวนานมากกว่านี้

REUTERS/Issei Kato

4. ความขัดแย้งเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น

ประเด็นความไม่พอใจระหว่างสองเพื่อนบ้าน เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น อันที่จริงก็มีความแคลงใจกันมานาน ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนลุกลามใหญ่โตอีกครั้ง หลังจากที่ทางการญี่ปุ่นประกาศถอดเกาหลีใต้ออกจาก “บัญชีสีขาว” ซึ่งเป็นรายชื่อสำหรับคู่ค้าที่ไว้ใจได้และใกล้ชิดกับญี่ปุ่น โดยจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ 28 ส.ค.นี้

และล่าสุด รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศเมื่อวานนี้ (12 ส.ค.) เตรียมตัดขาดญี่ปุ่นถอดออกจากรายชื่อประเทศคู่ค้าที่ได้รับความไว้วางใจ เรียกว่า “บัญชีขาว” เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลว่าญี่ปุ่นละเมิดหลักการสากล ด้วยการควบคุมการส่งออกวัตถุดิบที่มีความสำคัญต่อเกาหลีใต้ ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่จะถูกใช้มาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าบางอย่างมายังเกาหลีใต้

ทั้งนี้ การตอบโต้ไปมาระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ พูดได้ว่าแลกกันคนละหมัด ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกาหลีใต้แน่ ๆ คือ วัสดุที่สำคัญในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นทั้งหมด เช่น วัสดุในการผลิตจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิปหน่วยความจำ เป็นต้น ที่สำคัญคือ วัตถุดิบที่เกาหลีใต้พึ่งพาญี่ปุ่นยังไม่สามารถหาสิ่งทดแทนจากประเทศอื่นได้โดยเร็ว ๆ นี้

ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ก็ตอบโต้ญี่ปุ่นอย่างสาหัสเช่นกัน โดยภาคประชาชนชาวโสมขาวต่างแห่ “แบน” สินค้าญี่ปุ่นทุกรายการ ตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ อย่าง ปากกา เบียร์ ขนมคบเขี้ยว ไปจนถึง เสื้อผ้าแบรนด์เนม สินค้าหรู และรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น

ทั้งนี้ นายไทเมอร์ เบก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก ดีบีเอส กรุ๊ป รีเสิร์ช มองว่า บริษัททั้งของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างก็ต้องใช้เวลาเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ ยิ่งสถานการณ์ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ตึงเครียดมากเท่าไหร่ ก็ย่อมส่งผลต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของโลกมากเท่านั้น ในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกชิพและจอสมาร์ทโฟนรายใหญ่ ขณะที่ผู้บริโภคอาจจะต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าแพงขึ้น ถือเป็นการผลักภาระมาให้ผู้บริโภค

REUTERS/Kim Hong-Ji

5. เบร็กซิท

โลกกำลังเคานต์ดาวน์ก่อนถึงวันครบกำหนดการ “เบร็กซิท” หรือ การถอนตัวออกจากประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) ในวันที่ 31 ต.ค.ที่จะถึงนี้ หลังจากที่เคยเลื่อนวันเบร็กซิทมาแล้วหนึ่งครั้ง ซึ่งก็คือ วันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา

บวกกับความไม่แน่นอนของการเมืองอังกฤษที่เพิ่มขึ้น หลังจากในวันที่ 7 มิ.ย. นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งอังกฤษประกาศลาออกจากตำแหน่ง และเปลี่ยนผ่านตำแหน่งไปสู่ “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งเสียงตอบรับต่างเรียกขานเขาว่าเป็น “ทรัมป์แห่งลอนดอน”

ท่ามกลางคาดการณ์จากหลายแห่งกังวลว่า มีโอกาสที่จะเกิด “โนดีลเบร็กซิท” ในสมัยการบริหารของนายจอห์นสัน ขณะที่ล่าสุด นักการทูตรายหนึ่งในกรุงบรัสเซลส์ กล่าวกับ “ดิ การ์เดียน” เผยว่า เขาได้รับรายงานว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษไม่มีความประสงค์จะกลับมาเจรจาข้อตกลงถอนตัวใหม่อีกครั้ง ขณะที่นักวิเคราะห์จากหลาย ๆ ประเทศสมาชิกอียู ต่างชี้ว่า “โนดีล” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของเขา เนื่องจากเขาเป็นหัวหอกในการเรียกร้องให้มีประชามติเบร็กซิทจากประชาชน

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนกับการเบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลงที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลต่อ “เงินปอนด์” ให้อ่อนค่าลงเรื่อย ๆ โดยเมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา ค่าเงินปอนด์ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 1.0724 ต่อยูโร เป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี นับจากเดือน ส.ค. 2017 ขณะที่ปีที่ผ่านมา ค่าเงินปอนด์เทียบเงินบาทอยู่ที่ราว 40 บาท/ปอนด์ แต่ ณ วันที่ 13 ส.ค.อยู่ที่ 37.27 บาท/ปอนด์

REUTERS/Toby Melville