ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ก.พ.63 ร่วงต่อเนื่อง วอนรัฐเร่งจ่ายงบฯเข้าระบบเศรษฐกิจ

อัปเดตล่าสุด 11 มี.ค. 2563
  • Share :
  • 447 Reads   

ผศ.ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย  อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนมกราคม 2563 (TCC CONFIDENCE INDEX) จากการสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 384 ราย ระหว่างวันที่ 24 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ 44.9 ลดลงจากเดือนธันวาคม อยู่ที่ 45.4 โดยเป็นการลดลงต่อเนื่อง และส่งสัญญาณที่ไม่ดี เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลงในระดับที่ต่ำกว่า 50 ทุกรายการ ส่วนดัชนีปัจจุบันอยู่ที่ 42.8 ลดลงจากเดือนที่แล้ว อยู่ที่ 43.4 ส่วนดัชนีอนาคตอยู่ที่ 47.0 ลดลงจากเดือนที่แล้ว อยู่ที่ 47.3 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาค่าเงินบาทอ่อนค่า และสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนลดลงอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19
  • ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศเสี่ยงจากเชื้อไวรัส COVID-19
  • ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในบางพื้นที่เขตกทม.และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด
  • ค่า SET Index เดือน ก.พ. 63 ปรับตัวลดลง 54.56 จุด จาก 1,579.84 ณ สิ้นเดือน ม.ค. 63 เป็น 1,340.52 ณ สิ้นเดือน ก.พ. 63
  • ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าจากระดับ 30.440 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ม.ค. 63 เป็น 31.339 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ก.พ. 63 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลออกจากประเทศไทย
  • ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะส่งผลกระทบกับภาคการเกษตร และการใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคของประชาชน

ปัจจัยด้านบวก

  • การส่งออกของไทยเดือน ม.ค. 63 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.35 มูลค่าอยู่ที่ 19,626 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่นำเข้าลดลงร้อยละ 7.86 มีมูลค่าอยู่ที่ 21,181 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 1,556 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ระดับราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง ประมาณ 0.90 บาทต่อลิตรจากเดือนที่ผ่านมา
  • ศาลรฐัธรรมนูญมีมติให้ร่าง พ.ร.บ.งบปี 63 ไม่โมฆะ และมีการโหวตผ่านร่างงบประมาณปี 63
  • กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ "ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย" 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.00% ต่อปี


ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • มาตรการเพิ่มความเชื่อมั่นให้ประชาชนเกี่ยวกับการควบคุมสถานการณ์ของไวรัส COVID-19 
  • การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการทางการเกษตร และการอุปโภคบริโภค
  • กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อสินค้า และหันกลับมาท่องเที่ยวภายในประเทศให้มากขึ้น
  • เร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อนำมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
  • จัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม และควรมีมาตรการตรวจสอบงบประมาณว่าลงไปถึงประชาชนในระดับฐานรากอย่างจริงจัง

อ่านต่อ: ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ม.ค.63 ตกต่อเนื่อง แนะรัฐแก้ปัญหา ศก. เชิงรุก