048-ผลิตไฟฟ้าลาว-เขตเศรษฐกิจพนมเปญ-CLMV

ซุ่มดึง บจ. CLMV เข้าตลาดหุ้น “ไฟฟ้าลาว-เขตศก.พนมเปญ” จ่อไฟลิ่ง

อัปเดตล่าสุด 13 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 520 Reads   

ที่ปรึกษาการเงินซุ่มทำดีลดึง บจ. “CLMV” เข้าระดมทุนตลาดหุ้นไทยแบบ dual listing “แอสเซท โปรฯ” ประกาศบุก “ลาว-กัมพูชา” นำร่องเข็น “บริษัทผลิตไฟฟ้าลาว-เขตเศรษฐกิจพนมเปญ” เตรียมแผนปีหน้ายื่นไฟลิ่งเข้าจดทะเบียน SET ฟาก “ยูโอบี” อยู่ระหว่างปั้นดีลในมือ 7-10 ราย ตลท.ชี้ตลาดหุ้นไทยโดดเด่นสภาพคล่องสูง หุ้นติดโผ MSCI กว่า 33 ตัว

นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทให้ความสนใจกับการไปดึงบริษัทจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะใน สปป.ลาวและกัมพูชา ล่าสุดเมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าพบหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลาว (LSCO) ถึงการออกตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depositary Receipt : DR) ที่อิงกับหลักทรัพย์ราว 10 บริษัท อาทิ บริษัทผลิตไฟฟ้าลาว (EDL-Gen) ธนาคารรัฐบาลลาว (BCEL) และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคาดว่า DR ตัวนี้จะพร้อมยื่นจดทะเบียนในปี 2562

นอกจากนี้ยังได้หารือกันถึงเครื่องมือการเงินอื่น ๆ เช่น การตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Trust) รวมถึงการนำบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของลาวที่มีศักยภาพ เข้ามาจดทะเบียนควบ 2 ตลาด (dual listing) ในตลาดหลักทรัพย์ไทย ที่หารือกันอยู่ในขณะนี้ก็คือ EDL-Gen เป็นต้น และปีหน้าบริษัทมีแผนขยายการทำ dual listing กับ บจ.ในลาวมากขึ้น

สำหรับกัมพูชา ก็ได้ร่วมกับ ก.ล.ต.ไทยและ ก.ล.ต.กัมพูชา เตรียมความพร้อมเพื่อนำบริษัท เขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ (Phnom Penh SEZ Plc.) หรือ PPSEZ ทุนจดทะเบียน 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้ามาทำ dual listing ในไทยเช่นกัน โดยมีการหารือรายละเอียดและเข้าเยี่ยมชมโครงการครั้งแรกเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะสามารถยื่นไฟลิ่งได้ภายในไตรมาส 1/63

“คาดว่าหลังจากที่นำ PPSEZ เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยสำเร็จ จะช่วยขยายโอกาสให้บริษัทสามารถนำ บจ.รายอื่น ๆ ในกัมพูชาเข้ามาจดทะเบียนในไทยได้ต่อไป” นายสมภพกล่าวและว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการหารือกับบริษัท PESTECH (Cambodia) ผู้ดำเนินธุรกิจปักเสาพาดสายไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชาในปลายปี 2562 (ทุนจดทะเบียน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ) และตั้งเป้าจะมาทำ dual listing ในไทยต่อ

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเข้าพูดคุยกับ บจ.ขนาดใหญ่อื่น ๆ ของกัมพูชา เช่น อุตสาหกรรมท่าเรือน้ำลึก และอุตสาหกรรมท่าเรือน้ำจืด เป็นต้น “ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีความน่าสนใจตรงที่เรามี บจ.กว่า 800 บริษัท มาร์เก็ตแคปถึง 16 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญ ทั้งยังมีสภาพคล่องสูง ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย 5-6 หมื่นล้านบาทต่อวัน ซึ่งการที่บริษัทประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยก็จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนมากขึ้น รวมถึงบริษัทดังกล่าวสามารถออกเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ได้ เช่น การขายหุ้นกู้ เป็นต้น ทำให้มีต้นทุนการเงินที่ไม่สูง โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่ม CLMV ที่ยังมีอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเฉลี่ยสูงถึง 10%” นายสมภพกล่าว

นายธีรศักดิ์ ทวีปิยมาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า หลัง ตลท.เปิดให้ บจ.ต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ บล.ยูโอบีฯเริ่มทำดีลเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ทั้งที่เป็นผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นเอง (lead underwriter) และที่เป็น counder-writer ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำดีล 7-10 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย เป็นต้น แต่ละดีลจะใช้เวลาเตรียมความพร้อมประมาณ 1-2 ปี

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่จะได้รับประโยชน์ ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทในกลุ่ม CLMV ที่เห็นว่าตลาดหุ้นไทยมีพัฒนาการที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทประเทศเพื่อนบ้านยังมีระบบบัญชี หรืออาจยังไม่เข้าเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งผลให้ใช้เวลาค่อนข้างนานในการเตรียมตัวเข้าจดทะเบียน

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลท. ได้เปิดให้บริษัทต่างชาติสามารถเข้ามาระดมทุน ผ่านการออก DR และการทำ dual listing รวมถึงนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นตลาดแรก (primary listing) แต่ยังมีบริษัทต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนแค่ 1 ราย ในรูปแบบ DR อ้างอิงกองทุนรวม ETF ประเทศเวียดนาม ชื่อ “E1VFVN30”

เนื่องจากกระบวนการนำบริษัทต่างประเทศเข้าจดทะเบียนในไทย มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น การเปิดเผยข้อมูล และกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่จะต้องปรับให้พอดีกัน โดยที่ผ่านมา บริษัทต่างประเทศก็แสดงความสนใจ ทั้งในรูป IPO การออกทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และการออกกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

“ตอนนี้มีหลายรายที่เข้ามาคุย ทั้งแบบที่เพิ่งเริ่มคุยถึงความเป็นไปได้ และอีกกลุ่มที่หารือกันจบแล้วใกล้จะเห็นความชัดเจนเร็ว ๆ นี้ โดยกลุ่มที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เป็นคนออกไปชักชวน ส่วน ตลท. และ ก.ล.ต.มีหน้าที่ให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงมีหน้าที่ประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์ฯและ ก.ล.ต.ในต่างประเทศ”

นายแมนพงศ์ กล่าวอีกว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยจะช่วยขยายฐานนักลงทุนและหนุนการเติบโตของบริษัท ทำให้หน่วยงานในประเทศเหล่านั้นต่างสนับสนุนให้บริษัทในประเทศตนมาจดทะเบียนในไทย ขณะที่ความน่าสนใจของตลาดหลักทรัพย์ไทยนอกจากจะเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องสูงสุดในภูมิภาคอาเซียนแล้ว ยังมีกลุ่มนักลงทุนที่หลากหลาย ทั้งนักลงทุนสถาบันไทย นักลงทุนต่างประเทศ และนักลงทุนบุคคล อีกทั้งมีหุ้นที่ได้รับการจัดอันดับจากดัชนี MSCI ถึง 33 ราย มากเป็นอันดับสองของอาเซียนรองจากมาเลเซีย