047-Trade-War-China-USA-Recession

จีนตอบโต้อเมริกา “ระดับ 11” โลกจ่อ “รีเซสชั่น” ในอีก 9 เดือน

อัปเดตล่าสุด 11 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 488 Reads   

จากที่เคยมีความหวังเล็กน้อยว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คงไม่ยกระดับสงครามการค้ามากไปกว่านี้ หลังจากขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนกว่าล้านดอลลาร์ จาก 10 เป็น 25% แต่ล่าสุดดูเหมือนทุกฝ่ายจะถอดใจและยอมรับว่าในที่สุดแล้วทั้งจีนและอเมริกาคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อยุติสงคราม หลังจากทรัมป์ประกาศเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ว่า จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่เหลืออยู่ 3 แสนล้านดอลลาร์ในอัตรา 10% มีผลวันที่ 1 กันยายนนี้ โดยอ้างว่าเป็นเพราะจีนชักช้าในการทำข้อตกลงกับสหรัฐ

เท่ากับว่าสหรัฐจัดเก็บภาษีสินค้าจากจีนเต็มมูลค่าที่สหรัฐนำเข้าจากจีนคือประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งส่งผลให้จีนตอบโต้ทันทีด้วย 2 อาวุธ คือ 1.ปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าที่สุดในรอบ 11 ปี โดยค่าเงินหยวนเมื่อวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคมลงไปต่ำกว่า 7.0304 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับตลาดออนชอร์ และ 7.0807 สำหรับตลาดออฟชอร์ การที่หยวนอ่อนแตะระดับ 7 ถือเป็นระดับจิตวิทยาสำคัญ ส่งผลให้สหรัฐประกาศให้จีนเป็นประเทศ “บิดเบือนค่าเงิน” อย่างเป็นทางการ ถือเป็นครั้งแรกนับจากปี ค.ศ. 1994 หรือในรอบ 25 ปีที่รัฐบาลสหรัฐประกาศเช่นนี้ อันจะทำให้การค้าระหว่าง 2 ประเทศยุ่งยากขึ้นไปอีก

อาวุธที่ 2 ของจีนในการตอบโต้ครั้งนี้ก็คือ ระงับการซื้อสินค้าเกษตรทั้งหมดจากสหรัฐ ซึ่งจีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ อันดับ 4 ของสหรัฐ โดยปีที่แล้วจีนซื้อถั่วเหลืองมูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 60% ของการส่งออกถั่วเหลืองทั้งหมดของสหรัฐ ถือเป็นมาตรการตอบโต้ที่เรียกความสนใจจากทรัมป์ได้ไม่น้อย เพราะพื้นที่เกษตรในหลายรัฐเป็นฐานเสียงของทรัมป์

ตามความเห็นของนักวิเคราะห์ อาทิ คริส ครูเกอร์ ของ โคเวน ซึ่งเป็นบริษัทบริการการเงินและวาณิชธนกิจ ระบุว่า การตอบโต้ของจีนครั้งนี้หากจะให้จัดระดับความแรงตั้งแต่ 1-10 ตนขอจัดให้อยู่ “ระดับ 11” เพราะเท่ากับจีนส่งสัญญาณว่าไม่สนใจที่จะแสวงหาข้อตกลงกับสหรัฐในระยะอันใกล้นี้ ในขณะที่สินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลืองของสหรัฐ ก็จะเน่าต่อไป

เชทัน อาห์ยา นักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนเลย์ ชี้ว่า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ในอีก 9 เดือน ถ้าหากสหรัฐยกระดับสงครามการค้าต่อเนื่องไปอีก 4-6 เดือน ด้วยการจัดเก็บภาษีสินค้าจีนในอัตรา 25% ทั้งหมด เพราะเพิ่มความเสี่ยงด้านลบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสินค้า 2 ใน 3 ที่ถูกเก็บภาษีเป็นสินค้าบริโภคอันจะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐมากกว่าเดิม

อาห์ยาระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะเฟดและธนาคารกลางยุโรป จะออกมาตรการการเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่ก็จะทำได้เพียงจำกัดผลกระทบด้านลบ แต่ไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

หากถามว่ามหาสงครามครั้งนี้ใครจะอึดกว่า ทนความเจ็บปวดได้นานกว่า เอริก โรเบิร์ตเซน หัวหน้านักกลยุทธ์มหภาคของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ตอบว่าจีนมีแนวโน้มจะทนความเจ็บปวดได้นานกว่า และดูเหมือนว่าจีนพร้อมจะรอจนกว่าผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีหน้าจะออกมา แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับปัญหาการค้า เพราะหลังเลือกตั้งอาจได้คนอื่นเป็นประธานาธิบดี ดังนั้น ไม่ว่าทรัมป์จะบีบอย่างไร ไม่มีทางที่จีนจะตอบสนองอย่างที่ต้องการ ซึ่งระหว่างที่รอผลเลือกตั้งสหรัฐ ทางจีนน่าจะใช้มาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศมากกว่ามาตรการการเงิน

นักวิเคราะห์อีกหลายคน เห็นตรงกันว่า การใช้ความแข็งกร้าวอย่างมากของทรัมป์ ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจีนรอบใหม่ในครั้งนี้ หากจะมองว่าเป็นกลยุทธ์ของทรัมป์ แต่เป็นกลยุทธ์ประเภทที่ว่าดาบนั้น “จ่อคอหอย” ของสหรัฐเอง ไม่ใช่คอหอยจีน เพราะสินค้าส่วนใหญ่ที่ถูกเก็บภาษีเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภค ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบมากคือผู้บริโภคอเมริกัน ซึ่งภาคการบริโภคมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพีสหรัฐ นอกจากนี้ อาจกระทบต่อการจ้างงานในร้านค้าปลีกทั่วอเมริกา