ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ม.ค.63 ตกต่อเนื่อง แนะรัฐแก้ปัญหา ศก. เชิงรุก

อัปเดตล่าสุด 19 ก.พ. 2563
  • Share :
  • 432 Reads   

ผศ.ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย  อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนมกราคม 2563 (TCC CONFIDENCE INDEX) จากการสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 364 ราย ระหว่างวันที่ 27 - 30 มกราคม 2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ 45.4 ลดลงจากเดือนธันวาคม อยู่ที่ 45.7 โดยเป็นการลดลงต่อเนื่อง และส่งสัญญาณที่ไม่ดี เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลงในระดับที่ต่ำกว่า 50 ทุกรายการ ส่วนดัชนีปัจจุบันอยู่ที่ 43.4 ลดลงจากเดือนที่แล้ว อยู่ที่ 43.8 ส่วนดัชนีอนาคตอยู่ที่ 47.3 ลดลงจากเดือนที่แล้ว อยู่ที่ 47.6 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกที่ลดลง ค่าเงินบาท รวมถึงความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในขณะนี้

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • การส่งออกของไทยเดือน ธ.ค. 62 ลดลงร้อยละ 1.28 มูลค่าอยู่ที่ 19,154.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.54 มีมูลค่าอยู่ที่ 18,558.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 595.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ค่า SET Index เดือน ม.ค. 63 ปรับตัวลดลง 65.70 จุด จาก 1,579.84 ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 62 เป็น 1,514.14 ณ สิ้นเดือน ม.ค. 63
  • ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าจากระดับ 30.223 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 62 เป็น 30.440 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ม.ค. 62 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลออกจากประเทศไทย
  • การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ที่ล่าช้าส่งผลต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย การใช้จ่ายของประชาชน และการลงทุนภาคเอกชนลดลง
  • ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขต กทม. และปริมณฑล และต่างจังหวัด
  • ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์จากประเทศจีน
  • ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะส่งผลกระทบกับภาคการเกษตร และการใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคของประชาชน

 

ปัจจัยด้านบวก

  • การเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อจุดประสงค์กลับเยี่ยมบ้านต่างจังหวัด หรือท่องเที่ยวของประชาชนในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปีใหม่ และวันตรุษจีน
  • มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรนการขยายระยะเวลาชำระหนี้และลดค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าเพื่อให้เป็นเงินทุนในการเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ
  • ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง โดยราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอลออกเทน 91 ลดลงประมาณ 0.60 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา


ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • กระตุ้นภาคการท่องเที่ยวโดยออกมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อช่วยพยุงปัญหานักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะหายไปจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่
  • ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และออกมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษอย่างจริงจัง
  • กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อสินค้า
  • มาตรการการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบเชิงรุก กำหนดเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้เกิดผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม