039-เศรษฐกิจ-ญี่ปุ่น-2020

ตลาดญี่ปุ่นหดตัว “คนกลัวใช้จ่าย” “อาเบะโนมิกส์” สะดุด

อัปเดตล่าสุด 17 ก.พ. 2563
  • Share :
  • 607 Reads   

เศรษฐกิจญี่ปุ่นภายใต้การบริหารของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี “ชินโสะ อาเบะ” ภายใต้นโยบายที่เรียกว่า “อาเบะโนมิกส์” ซึ่งดำเนินมาแล้วถึง 7 ปี หนุนให้การลงทุนของภาคเอกชนกลับมากระเตื้องขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ซบเซามากว่า 20 ปี และยังช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง แต่จากหลายปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อเศรษฐกิจแดนปลาดิบ ส่งผลให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นไม่กล้าใช้จ่าย จนทำให้ตลาดภายในประเทศหดตัว และกลายเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

นิกเคอิ เอเชี่ยน รีวิว รายงานว่า การเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างสมบูรณ์แบบของญี่ปุ่น ทั้งจำนวนคนชราที่เพิ่มสูงขึ้นและอัตราการเกิดที่ต่ำลง ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งออกมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะการเพิ่มงบประมาณ “ประกันสังคมและการดูแลสุขภาพ” ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานกลายเป็นกลุ่มคนที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันสังคมและภาษีที่เพิ่มสูงมากขึ้น

โดยทางการญี่ปุ่นได้ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษี ประกันสังคม และการช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการออกระบบ “มายนัมเบอร์” ในปี 2016 เพื่อสร้างระบบยืนยันตัวบุคคลในการจัดเก็บภาษีของผู้ที่พักอาศัยในญี่ปุ่น ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นเข้าสู่ระบบภาษีและประกันสังคมมากขึ้น ล่าสุดทางการยังได้เตรียมออกมาตรการจูงใจ ใช้ระบบคะแนนสะสมสำหรับผู้ที่ทำธุรกรรมใช้จ่ายแบบไร้เงินสดผ่านบัตรมายนัมเบอร์ในเดือน เม.ย.นี้

“ทาเคชิ นิอินามิ” ประธานและซีอีโอของซันโตรี โฮลดิ้งส์ ระบุว่า “เศรษฐกิจญี่ปุ่นดูเหมือนจะไม่เลวร้ายลง แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่าดีขึ้น แม้ว่ามาตรการของรัฐบาลจะพยายามทำให้เรามั่นใจในแนวโน้มที่ดี แต่ภาระที่เพิ่มขึ้นของประชาชนจากเบี้ยประกันสังคมและการรักษาพยาบาลก็ยากที่จะรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น”

สอดคล้องกับสหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นระบุว่า ช่วงปีงบประมาณ 2013-2018 การจ่ายเบี้ยประกันสังคมเพิ่มสูงขึ้นเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของการปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง จากที่อัตราเบี้ยประกันสังคมและการรักษาพยาบาลยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากกังวลที่จะใช้จ่าย เนื่องจากรายได้ที่ไม่เพียงพอ นำไปสู่การหดตัวของตลาดภายในประเทศ

ขณะที่ข้อมูลของ กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ระหว่างปี 2012-2018 ค่าจ้างที่แท้จริง (real wages) ลดลง 3.5% แม้ว่าอัตราว่างงานจะลดลงอยู่ที่ 2.2% เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 27 ปี ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทญี่ปุ่นต่างพยายามลดต้นทุน ด้วยการจ้างงานแบบชั่วคราวแทนที่การจ้างงานแบบประจำซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า หรือบางแห่งยังใช้วิธีการจ้างงานผู้เกษียณอายุที่ยังต้องการทำงานด้วยอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่าปกติ

โดยพบว่าช่วงปี 2013-2019 แรงงานโดยรวมของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านคน มาอยู่ที่ 56 ล้านคนในปี 2019 แต่ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของพนักงานแบบชั่วคราวถึง 2.5 ล้านคน หรือ 57%

จำนวนพนักงานชั่วคราวที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ค่าจ้างโดยเฉลี่ยมีอัตราการเติบโตไม่สูงนัก โดยช่วงปี 2012-2018 รายได้เฉลี่ย (nominal wages) ของชาวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเพียง 2.6%

“ฟาสต์รีเทลลิ่ง” เจ้าของแบรนด์ยูนิโคล่ระบุว่า ในปี 2019 บริษัทมีพนักงานชั่วคราวถึง 80,758 คน เพิ่มขึ้น 12% ส่วน “เด็นโซ่” ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของโตโยต้าเปิดเผยว่า แม้ว่าจำนวนพนักงานชั่วคราวจะลดลง 3% เหลือเพียง 34,529 คนในปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังเพิ่มขึ้นถึง 26% จากปี 2015

นอกจากนี้จากที่เดือน ต.ค. 2019 ทางการญี่ปุ่นได้เริ่มปรับขึ้น “ภาษีบริโภค” สำหรับสินค้าบางชนิดจาก 8% เป็น 10% และตั้งแต่ต้นปี 2020 เป็นต้นมา มีการปรับลดเพดานการลดหย่อนภาษี สำหรับผู้ที่มีรายได้ 8.5 ล้านเยน/ปีขึ้นไป จากเดิมลดหย่อนได้สูงสุด 2.2 ล้านเยน ปรับลดเหลือ 1.95 ล้านเยน ส่วนฐานภาษีสำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1.625 ล้านเยน/ปี ก็ปรับอัตราการลดหย่อนภาษีลดลงจาก 6.5 แสนเยน เหลือ 5.5 แสนเยน

มาตรการจัดเก็บภาษีและประกันสังคม ในขณะที่อัตราค่าจ้างที่ต่ำลง ยิ่งส่งผลให้ความต้องการบริโภคในญี่ปุ่นหดตัว ทั้งความกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน รวมถึงปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติต่าง ๆ อย่างการเข้าพัดถล่มของพายุไต้ฝุ่นฮากีบิส ในปีที่ผ่านมา

แม้ว่ารัฐบาลจะจัดสรรงบจำนวนมากเพื่อชดเชยผลกระทบ แต่สมาคมห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นระบุว่า ยอดขายสินค้าของห้างสรรพสินค้าลดลงติดต่อกันในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าจีดีพีของญี่ปุ่นในไตรมาส 4/2019 จะลดลง 3.9% จากไตรมาสก่อนหน้า

แม้ว่าก่อนหน้านี้หลายฝ่ายยังคาดหวังว่า การบริโภคภายในประเทศของญี่ปุ่นจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ แต่กลับต้องมาเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากอันดับต้น ๆ นอกประเทศจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและตลาดภายในของญี่ปุ่นด้วย แม้ว่าทางผู้จัดจะยังยืนยันกำหนดการจัดโอลิมปิก 2020 ในวันที่ 24 ก.ค.ที่จะถึงนี้

สถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้จึงกลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับรัฐบาลญี่ปุ่น ในการจัดการปัญหาทั้งที่เกิดจากการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจและปัจจัยจากภายนอก ผศ.นาโอกิ ทากายามะ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮิโตะสึบะชิ ระบุว่า “ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นไม่มั่นใจการเติบโตทางเศรษฐกิจมากพอที่จะรับมือกับการขึ้นภาษี หรือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เมื่อเงินเดือนของพวกเขาไม่เพิ่มขึ้นมากอย่างที่คาดหวัง”