กกร. จับตาเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังเผชิญหลายปัจจัย หวังรัฐฟื้นความเชื่อมั่นเอกชน

อัปเดตล่าสุด 9 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 495 Reads   

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยทั้งการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศมีสัญญาณที่อ่อนแรงลงต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 เครื่องชี้ส่วนใหญ่มีทิศทางที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.8%

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ เตรียมที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 10% ต่อสินค้าจีนวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในวันที่ 1 กันยายนนี้ ส่วนจีนได้ปรับค่าเงินหยวนอ่อนค่าหลุดระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ฯ โดยเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 11 ปี จากนั้นสหรัฐฯ ก็ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) ซึ่งน่าจะนำมาสู่มาตรการเพิ่มเติมจากฝั่งสหรัฐฯ และส่งผลให้สงครามการค้ามีความเสี่ยงที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สหราชอาณาจักรอาจจะต้องออกจากสหภาพยุโรปโดยไร้ข้อตกลง (No Deal Brexit) ในวันที่ 31 ตุลาคม 

ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าว สร้างแรงกดดันเพิ่มต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอยู่แล้ว และเมื่อประกอบกับความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่ทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งผันผวนและอาจปรับแข็งค่าขึ้น ล้วนเป็นแรงกดดันที่ไม่เอื้อต่อภาพการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี

อนึ่ง นับจากต้นปีจนถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2562 เงินบาทแข็งค่าแล้ว 5.9% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยเป็นอัตราแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ

ภายใต้ภาพต่างประเทศข้างต้น แรงหนุนต่อเศรษฐกิจไทย คงต้องหวังพึ่งพาการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการระยะสั้นจากภาครัฐ ทั้งเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง และการเรียกฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน 

โดยรวม ที่ประชุม กกร. จะติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อประเมินทิศทางการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป ณ ขณะนี้ จึงยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ การส่งออก และอัตราเงินเฟ้อ ในปี 2562 ไว้ตามกรอบเดิม

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2562 ของ กกร.

%YoY ปี 2561 ปี 2562 
(ณ ก.ค. 62)
GDP 4.1 2.9-3.3
ส่งออก 6.9 -1.0 ถึง 1.0
เงินเฟ้อ 1.1 0.8-1.2

 

เตรียมความพร้อมจัดหลายงานใหญ่ในครึ่งปีหลัง-ผลักดันแพลตฟอร์ม NDTP

  • คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สนับสนุนงาน ‘วันต่อต้านคอร์รัปชัน’ ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายทั้งภาคประชาชนและภาครัฐได้ร่วมกันจัดขึ้น โดยกำหนดจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2562 วันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2562 เวลา 08:00 – 12.00 น. ณ ห้องภิรัช ฮอลล์ 1 - 3 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา (BITEC) กรุงเทพฯ

 

  • การจัดงานอาเซียนเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ จะมีกิจกรรมอาเซียนที่สำคัญได้แก่ การจัดงาน ASEAN Young Entrepreneur Carnival (AYEC) ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 2 - 3 กันยายน 2562 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด Empowering the Future : 10 Nations 1 Vision นอกจากนี้ วันที่ 5 กันยายน 2562 อาเซียนจะมีการจัดงาน Symposium on “ASEAN MSMEs in the Digital Era: Challenges and Opportunities” เพื่อส่งเสริมศักยภาพของ MSMEs ในอาเซียน

 

  • คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ ร่วมกันจัดงาน ASEAN Business and Investment Summit 2019 (ABIS 2019) ภายใต้หัวข้อ “Empowering ASEAN 4.0” เพื่อเป็นเวทีให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ ได้แสดงวิสัยทัศน์และมุมมองในหลากหลายประเด็นที่เป็นโอกาสและความท้าทายภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่ทวีความรุนแรงอยู่ในขณะนี้ โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 800 คน 

 

  • นอกจากนี้ ภาคเอกชนได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประกาศผลและมอบรางวัล ASEAN Business Awards 2019 (ABA 2019) ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี การจัดงาน ABA 2019  มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจ มุ่งยกย่องเชิดชูบริษัทอาเซียนที่มีศักยภาพและมีความโดดเด่นในด้านต่างๆ โดยจะมอบรางวัลให้แก่บริษัทที่ถือกำเนิดในอาเซียน (homegrown ASEAN companies) ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (ASEAN MSMEs) ที่มีศักยภาพในการก้าวไปสู่การค้าในระดับสากลและเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของอาเซียนให้เจริญเติบโต ก็ขอเชิญชวนบริษัทเอกชนไทยเข้าร่วมประกวดในงานดังกล่าว

 

  • กกร. กำลังผลักดันการศึกษาและพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลแห่งชาติ (National Digital Trade Platform - NDTP) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงภาคธุรกิจเอกชน (B2B) ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดความรวดเร็ว ลดขั้นตอน ลดต้นทุนในด้านการส่งออก-นำเข้า และนำไปสู่ e-trading และการเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ ในโลก ซึ่งปัจจุบันได้มีการเริ่มพัฒนาและเริ่มใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวแล้วในหลายประเทศ

 

  • กกร. เห็นว่าการพัฒนา NDTP ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงภาคธุรกิจเอกชน หรือ B2B เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งเสริมให้การทำการค้าระหว่างประเทศมีความคล่องตัวและมีต้นทุนที่ลดลง โดยการพัฒนา NDTP จะสอดคล้องและเสริมงานการพัฒนา National Single Window (NSW) ของภาครัฐเพื่อทำให้การเชื่อมโยงกับภาครัฐเป็นไปอย่างราบรื่นและทำให้กระบวนการด้านการค้าระหว่างประเทศแบบดิจิทัลมีความสมบูรณ์