“ขนส่ง” สั่งอัพเกรดรถโดยสาร จุดพลุตลาดมินิบัส 5 หมื่นล้าน

อัปเดตล่าสุด 9 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 818 Reads   

ตลาดมินิบัส 5 หมื่นล้านเดือด รับแผนโละทิ้งรถตู้ยกระดับมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะของกรมขนส่งฯ “โตโยต้า-ฮุนได” สบช่องส่งโปรดักต์ใหม่กวาดตลาด โชว์จุดขายตอบทุกโจทย์ลูกค้า ทั้งขนส่งสาธารณะ ธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรม หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ค่ายรถจีนพร้อมเข็น “อีวี” เสริมทัพ

นโยบายยกระดับมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการเดินทาง โดยกำหนดมาตรการรถโดยสารขนาดเล็กจำนวนที่นั่งไม่เกิน 20 ที่นั่ง ต้องมีระบบเบรกแบบเอบีเอส หรือระบบห้ามล้อแบบอื่นที่มีมาตรฐานเท่ากันหรือสูงกว่า พร้อมติดตั้ง GPS Tracking และอุปกรณ์แสดงผลความเร็วนำมาใช้ทดแทนรถตู้โดยสารที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ส่งผลให้ตลาดรถมินิบัสคึกคักขึ้นอย่างผิดหูผิดตาตั้งแต่หมวด 2 วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด ระยะทางเกิน 300 กิโลเมตร บังคับใช้ 1 ต.ค. 2560 ไปแล้ว หมวดที่ 1 ซึ่งวิ่งอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2562 หมวดที่ 3 วิ่งระหว่างจังหวัด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนย่อย คือ 1.มีจุดแวะจอด บังคับเปลี่ยนไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 และ 2.ไม่มีจุดจอด จะบังคับใช้ 1 ต.ค. 2562 ส่วนหมวดที่ 4 วิ่งจังหวัดเข้าไปยังอำเภอต่าง ๆ มีผลบังคับใช้ 1 ต.ค. 2562 นี้เช่นกัน

ตลาด 5 หมื่นล้านเนื้อหอม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความต้องการใช้รถมินิบัสมีสูงขึ้นมาเป็นลำดับตั้งแต่ปลายปี 2560 เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทำให้กลุ่มผู้ประกอบการยังปรับตัวกันไม่ทัน แต่ก็มีรถนำเข้าจากประเทศจีนเข้ามาทำตลาดเป็นระยะ ทั้งนี้ ประเมินกันว่าจะมีรถโดยสารเข้าข่ายที่จะต้องเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปทดแทนอยู่ในระบบไม่น้อยกว่า 20,000 คัน และยังมีรถโดยสารไม่ประจำทางอีกเกือบ 10,000 คัน ที่จะต้องหมุนเวียนเข้าไป คาดว่าเม็ดเงินน่าจะมีสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท

โตโยต้าส่งโคสเตอร์แก้เกม

ล่าสุดค่ายโตโยต้าซึ่งต้องสูญเสียตลาดคอมมิวเตอร์ไปนั้น ขณะนี้ได้ส่งมินิบัส “โคสเตอร์” อเนกประสงค์ 20 ที่นั่ง นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นทั้งคันเข้ามาทำตลาดแทน โดยชูจุดขายด้านราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท ห้องโดยสารกว้าง แอร์เย็นช่ำทุกที่นั่ง มาพร้อมระบบความปลอดภัยเบรก ABS ระบบควบคุมการทรงตัว VSC มีระบบล็อกคันเร่งอัตโนมัติ ป้องกันรถเคลื่อนที่ขณะที่ประตูผู้โดยสารปิดไม่สนิท ทุกที่นั่งมาพร้อมเข็มขัดนิรภัย 3 จุด ประตูไฟฟ้าพร้อมสัญญาณเตือน และป้องกันการหนีบ และมีประตูทางออกฉุกเฉินด้านหลัง เปิดออกง่ายทั้งจากด้านนอกและด้านใน ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ทั้งบริษัทเอกชนที่เดินรถระหว่างจังหวัด โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ฝั่งตะวันออก กทม.-ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี-ตราด ให้ความสนใจกันมาก นอกจากนี้ ยังมีโซนอื่น ๆ ทยอยเพิ่มออร์เดอร์เขาไปเรื่อย ๆ

แหล่งข่าวจากบริษัท เกาะช้างกรุงเทพเดินรถ จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมาทางบริษัทได้รับสัมปทานเดินรถโดยสารสายตราด-กรุงเทพฯโดยใช้รถตู้โดยสาร แต่เมื่อกรมการขนส่งทางบกให้ปรับปลี่ยนมาใช้รถมินิบัส “โคสเตอร์” แทนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของผู้โดยสาร ระยะแรกยังต้องใช้รถตู้บางช่วงเวลา เพราะรถมินิบัสที่สั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่นกำลังทยอยส่งมา หลังเปิดบริการมีผู้โดยสารมาใช้บริการจำนวนมาก

ยนตรกิจฯขึ้นไลน์ประกอบใน ปท.

ความหอมหวานของตลาดยังส่งผลให้ค่ายยนตรกิจตัดสินใจร่วมมือกับบริษัท ฮุนได มอเตอร์ คอมพานี ประเทศเกาหลีใต้ ตั้งบริษัท ฮุนได คอมเมอร์เชียล เวฮิเคิลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทในเครือยนตรกิจ คอร์เปอเรชั่น นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์ฮุนไดเพื่อการพาณิชย์ “ฮุนได ทรัค แอนด์ บัส” ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

นางธันยนันท์ ลีนุตพงษ์ ศิริมงคลเกษม กรรมการบริหาร เปิดเผยว่า ใช้งบประมาณราว 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อขึ้นไลน์ประกอบรถยนต์มินิบัส ขนาด 18+1 ที่นั่ง ที่โรงงานยนตรกิจ ลาดกระบัง สำหรับขึ้นไลน์ผลิตรถมินิบัส รุ่นฮุนได เคาน์ตี้ รถมินิบัสพวงมาลัยขวาครั้งแรกของโลก และบริษัทแม่ยังให้สิทธิประเทศไทยในการทำตลาดรถมินิบัสพวงมาลัยขวาไปยังกลุ่มประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ยังรองรับมาตรฐานยูโร 3 ไม่ว่าจะเป็นบังกลาเทศ ศรีลังกา แอฟริกา ปาปัวนิวกินี ฯลฯ

“เราเจรจากับตัวแทนจำหน่ายเกียที่มีอยู่ในปัจจุบัน 19 รายทั่วประเทศให้เป็นตัวแทนขาย และในปีนี้จะเปิดโชว์รูมและศูนย์บริการรถยนต์ฮุนได 5-10 แห่ง”

สำหรับรถมินิบัสฮุนได เคาน์ตี้ รุ่นประกอบในประเทศไทย เครื่องยนต์ดีเซลดีโฟร์ดี 3,907 ซีซี เกียร์แมนวล 5 จังหวะ ราคาเปิดตัวอยู่ที่ 1,991,000 บาท

ค่ายจีนเข็นรถอีวีเสริมทัพ

ด้านนายกิตติกรณ์ พินิจวงศ์วิทยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอีวี จำกัด ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายรถบัสโดยสารภายใต้แบรนด์ยูทง (Yutong) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ก่อนหน้านี้ว่า บริษัทเห็นโอกาสและช่องว่างในการเข้ามาเติมเต็มความต้องการของตลาด เนื่องจากบริษัทเป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วน (เอสเคดี) รถมินิบัสภายใต้แบรนด์ยูทง จากประเทศจีนเข้ามาจำหน่าย เป็นระยะเวลากว่า 3 ปีแล้ว และคาดว่าความต้องการในตลาดดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“โดยเฉลี่ยความต้องการรถมินิบัสน่าจะอยู่ที่ปีละ 2,000 คัน แบ่งเป็นทดแทนรถในหมวด 1 และหมวด 2 อย่างละ 1,000 คัน”

โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ตลาดน่าจะมีความคึกคักเนื่องจากผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนรถหมวด 2 ซึ่งวิ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ มีทั้งสิ้น 7,800-8,000 คัน โดยจะทยอยเปลี่ยนอยู่ปีละ 1,000 คัน

สำหรับบริษัทปีนี้ตั้งเป้ามียอดขายรถมินิบัสไว้ที่ 400 คัน เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากปีก่อนที่ขายได้ 200 คัน และในช่วงปลายปีมีแผนจะนำเสนอรถมินิบัส อีวี ออกมารองรับความต้องการของตลาดอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีบริษัทผู้ผลิตรถสัญชาติไทยอย่างค่ายไทยรุ่งฯที่ก่อนหน้านี้ได้แนะนำรถมินิบัส ทีอาร์ ทราเวลเลอร์ เป็นรถมินิบัสสัญชาติไทยที่ผลิตมาเพื่อตอบโจทย์เจ้าของกิจการที่ต้องการรถมินิบัสและใช้งานแบบรถประจำทางแทนรถตู้ด้วย ราคาเริ่มต้นที่ 2.2 ล้านบาท