ห่วงเสถียรภาพรัฐบาลใหม่ ธุรกิจยื่นมาตรการด่วนกู้เศรษฐกิจ

อัปเดตล่าสุด 10 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 449 Reads   

นักธุรกิจ-การเงินจับตาเสถียรภาพ-ความมั่นคงรัฐบาลใหม่ จุดเปราะบางในการบริหารแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศ “กกร.” ยื่นสมุดปกขาวเสนอมาตรการระยะสั้น-ยาว สานต่อ “EEC รถไฟรางคู่ ฟื้นช็อปช่วยชาติ ทบทวนมาตรการ LTV แก้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ” หอต่างประเทศแจ้งข่าวดี EU ไฟเขียวเจรจา FTA “เจ้าสัวสหพัฒน์” ยังเชื่อมือ “ประยุทธ์” 

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้รับการสนับสนุนด้วยเสียงส่วนใหญ่ในการประชุมรัฐสภาให้เป็น “นายกรัฐมนตรี” แต่เสียงสนับสนุนจาก 19 พรรคการเมือง ซึ่งจัดเป็นเสียง “ปริ่มน้ำ” สร้างความกังวลในแง่เสถียรภาพและความเชื่อมั่นทางการเมือง กระทบกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดก่อน สะท้อนออกมาจากข้อเรียกร้องของภาคเอกชนและมุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อรัฐบาลชุดใหม่

สมุดปกขาวสานโครงการต่อ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กำลังเร่งจัดทำ “สมุดปกขาว” เสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 เพื่อให้รัฐบาลได้ทราบแนวทางสิ่งที่เอกชนต้องการทั้งระยะสั้นและระยะยาว


“รัฐบาลใหม่ไม่ว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร ผมก็ยังคงเชื่อว่า รัฐบาลจะมีนโยบายที่ต้องผลักดันให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าให้ได้ เอกชนเองตั้งความหวังให้ทีมเศรษฐกิจสานต่อโครงการเดิมที่ได้เริ่มไว้ เพราะทุกโครงการเป็นโครงการที่ดี เป็นประโยชน์” นายสุพันธุ์กล่าว


ทั้งนี้ ในสมุดปกขาวทาง กกร.ได้เสนอแนวทางระยะสั้นรัฐบาลต้องทำทันที “ห้ามหยุดชะงัก” ประกอบไปด้วย

1) ต้องเดินหน้าโครงการที่เป็นประโยชน์และมีความต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการรถไฟรางคู่ และโครงการถนนเข้าสู่หมู่บ้าน

2) การจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ทุก ๆ 6 เดือน กับการประชุมคณะกรรมการความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ (ease of doing business) ทุก ๆ 3-4 เดือน เพื่อทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับภาคเอกชน

3) กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางด้านภาษี เช่น โครงการช็อปช่วยชาติ, การลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์และทบทวนมาตรการบังคับเพิ่มเงินดาวน์ในการขอสินเชื่อซื้อบ้าน-คอนโดฯ หรือ LTV 4) แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร ส่งเสริมการแปรรูป และพึ่งพาการบริโภคในประเทศด้วยนโยบาย Made in Thailand ส่วนระยะยาว ช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาบุคลากร และพัฒนาด้านการศึกษา


“ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2562 เดิมตั้งเป้าไว้ว่า GDP โตได้ 3.7-4% ขณะที่การส่งออกจากที่ตั้งเป้าไว้ 3-5% ถึงตอนนี้แน่นอนว่าจะลดต่ำลงกว่านี้แน่ ไม่ถึงเป้า” นายสุพันธุ์กล่าว

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า รัฐบาลชุดใหม่ “ทีมเศรษฐกิจ” จะต้องเป็นผู้ที่รู้ปัญหาสามารถสานงานต่อของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ “งานที่รัฐบาลใหม่ต้องสานงานต่อก็คือ การแก้ปัญหาสงครามการค้าและแผนรับมือ รวมไปถึงวิธีการเจาะตลาดและผลักดันการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมาย ส่วนการส่งออกปีนี้ สรท.ปรับคาดการณ์จะเติบโตเพียง 1% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 3%”

เสียงปริ่มน้ำ-บริหารพรรคร่วม

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อย จะส่งผลให้การบริหารและความเป็นเอกภาพกับพรรคร่วมรัฐบาลมีความสำคัญต่อการดำเนินงาน พร้อมกับมีข้อเสนอ 3 ข้อ ให้รัฐบาลชุดใหม่

1) การกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศด้วยการออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ 2) การสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจผ่านการดำเนินงานโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้มีความต่อเนื่อง เพื่อภาคธุรกิจจะมีความเชื่อมั่นกล้าตัดสินใจลงทุนตามภาครัฐ และ 3) การให้ความสำคัญกับการออมเงินในตลาดทุน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ภาคตลาดทุนกำลังผลักดันในปัจจุบันเพื่อให้ประชาชนมีเงินออมเพื่อใช้ยามเกษียณอายุมากขึ้น “FETCO จะเข้าหารือกับ รมว.คลังคนใหม่ ทันทีเกี่ยวกับกองทุนใหม่ที่จะมาทดแทน กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (กองทุน LTF)”

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า การกลับมาของ พล.อ.ประยุทธ์ จะทำให้นโยบายทางเศรษฐกิจ และโครงการต่าง ๆ ที่ได้เริ่มดำเนินการมาก่อนหน้านี้ “มีความต่อเนื่อง จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสภาพการลงทุนโดยรวมกลับมาดีขึ้น” แต่อีกด้านหนึ่งที่เป็นจุดเปราะบางของรัฐบาลที่นักลงทุนจับตามองก็คือ ความมั่นคงทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล

ส่วนสิ่งที่อุตสาหกรรมธุรกิจหลักทรัพย์ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ผลักดันก็คือ การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยในการทำธุรกรรมทางการเงินและตลาดทุน เนื่องจากการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลจะต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การพิจารณาภาษีที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมรูปแบบใหม่ ซึ่งอาจต้องมีความยืดหยุ่น (flexibility) มากขึ้น รวมทั้งกฎหมายที่ยังค้างตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ได้แก่ กฎหมายทรัสต์ และร่างพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เจ้าสัวสหพัฒน์เชื่อมือประยุทธ์

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทำก็คือ การแก้ไขราคาพืชผลทางการเกษตร อยากให้ใช้แนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องประกันรายได้ “เพราะใช้เงินลงทุนน้อย แต่ได้ผลมาก” ถ้าพืชผลเกษตรกรดีขึ้นจะส่งผลให้กำลังซื้อกลุ่มรากหญ้าดีขึ้นด้วย ประกอบกับรัฐบาลมีการอัดฉีดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าไปกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภคกลุ่มรากหญ้า ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ “ผมยังเชื่อมั่นในฝีมือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่”

ด้านนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคเอกชนหวังให้การเมืองมีเสถียรภาพ ทีมเศรษฐกิจต้องสานต่อและดำเนินโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงรัฐบาลชุดใหม่ต้องเปิดการเจรจาเข้าร่วมความตกลงครอบคลุมก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าเอเชีย-แปซิฟิก หรือ CPTPP ตลอดจนเริ่มเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี FTA กับสหภาพยุโรป

ขณะที่ นายอธิพล ตีระสงกรานต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาสภาพการเมืองไทยส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจีน ทำให้หลายรายเลือกเดินทางไปจุดหมายอื่น จนส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ธุรกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภค ทั้งค้าปลีกและร้านอาหารได้รับผลกระทบจากจำนวนลูกค้าและยอดใช้จ่ายลดลง

ค้าปลีก IT-มือถือหวังกำลังซื้อฟื้น
นายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านค้าปลีกสินค้าไอทีและสมาร์ทโฟน ภายใต้แบรนด์บานานาไอที-สตูดิโอ เซเว่น กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังกำลังซื้อของผู้บริโภคน่าจะกระเตื้องขึ้น เนื่องจากมีความชัดเจนทางด้านการเมืองและมีรัฐบาลใหม่ที่คาดว่า จะมีนโยบายช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็ง ทำให้การนำเข้าสินค้าต่าง ๆ เข้ามามีราคาถูก โดยเฉพาะสินค้าไอทีที่ 80-90% เป็นสินค้านำเข้า ซึ่งน่าจะเห็นภาพชัดในไตรมาส 3

“อยากฝากให้รัฐบาลใหม่ทำให้ดีที่สุด และทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ เพียงแต่จะนำไปปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน”

อสังหาฯขอ ศก.ดี-เสถียรภาพดี

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลมีเสถียรภาพเพราะหากรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพทำให้เศรษฐกิจชะลอไปอีกหลายปี หรือถ้ามีการทะเลาะกันเนื่องจากเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคจนต้องมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ยิ่งทำให้ประเทศชาติเสียเวลามากขึ้นไปอีก ส่วนข้อเสนอแนะอยากให้รัฐบาลทำเศรษฐกิจภาพรวมให้ดีขึ้น ธุรกิจเอกชนจะขยับเป็นเงาตามตัว ทุกวันนี้ขยับลำบากเพราะเศรษฐกิจชะลอตัว

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า การที่มีรัฐบาลเก่ากลับมาอีกครั้ง ในอีกมุมก็เป็นการสานต่องานเดิมที่เคยทำไว้จะได้มีความต่อเนื่อง ในภาคของ real sector เราต้องการความต่อเนื่อง “จะเก่งมากเก่งน้อยไม่ทราบ” แต่ภาคเอกชนต้องการความต่อเนื่องจะเป็นผลดีต่อประเทศ ซึ่งธุรกิจที่อยู่อาศัยมีมูลค่าตลาดปีละ 700,000 ล้านบาท คิดเป็น 7-8% ของ GDP ประเทศไทย รัฐบาลสามารถใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจได้

นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า สมาคมมีแพ็กเกจข้อเสนอ อาทิ ทบทวนมาตรการ LTV โดยเฉพาะประเด็นการกู้ร่วมซึ่งมีผลกระทบมาก เพราะราคาต่ำกว่า 5 ล้านลงมามีการกู้ร่วมสูง, ขอให้ปลดล็อกเครดิตบูโร เพราะถึงแม้ชำระหนี้จนหมดแล้ว แต่ยังมีชื่อติดอยู่ในเครดิตบูโรต่อเนื่องอีก 3 ปี ซึ่งนานเกินไป, การขยับราคาบ้านผู้มีรายได้จาก 1 ล้านบาท เป็น 2 ล้านบาท เพื่อดึงดูดเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาโครงการออกสู่ตลาดมากขึ้น

ฟื้นเจรจา FTA-EU

นายสแตนลีย์ กัง ประธานหอการค้าต่างประเทศ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การเมืองไทยยังคงมีเสถียรภาพในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดจากพรรคร่วมมากถึง 19 พรรคก็ตาม “ทิศทางและแนวนโยบายต่าง ๆ ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อย่างน้อย ๆ ก็ยังมี 2 โปรเจกต์ใหญ่ นั่นคือ ไทยแลนด์ 4.0 กับโครงการ EEC ที่ยังดำเนินการต่อไปบนเส้นทางเดิม สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องสำหรับนักลงทุนต่างชาติก็คือ ตอนนี้ประเทศไทยมีพรรคฝ่ายค้านแล้ว ดังนั้นการเจรจาและผลักดันนโยบายต่าง ๆ จะไม่รวดเร็วเหมือนเมื่อ 5 ปีก่อน”

ล่าสุดจากการพบปะกับตัวแทนจากสหภาพยุโรปหลายคนต่างก็ตอบรับต่อผลการเลือกตั้งของไทยและแจ้งว่า ตอนนี้ถึงเวลาแล้วสำหรับการผลักดันการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู ที่ชะงักมานานตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร ไทยจำเป็นต้องเร่งการเจรจาเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้ากับอียู ไม่เช่นนั้นอาจจะเสียเปรียบหลาย ๆ ประเทศที่มีข้อตกลง FTA กับอียูแล้ว ส่วนนักลงทุนญี่ปุ่นยังมีความเชื่อมั่นอยู่
ตจว.ไม่มั่นใจรัฐบาลใหม่
นายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอนเฟดเดอร์เรท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ กล่าวว่า “ค่อนข้างไม่มีความมั่นใจในรัฐบาลชุดใหม่ เนื่องจากเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มีหลายพรรคการเมืองเข้าร่วม และผมไม่แน่ใจว่าจะอยู่ได้ยาวนานหรือไม่”

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ผู้บริหารห้างสรรพสินค้า “ตั้งงี่สุน” ยักษ์ค้าปลีก-ค้าส่งในจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า “โครงการต่าง ๆ จะมีความชัดเจนมากขึ้น และสามารถเดินต่อไปได้ แต่ไม่ควรมีประชานิยมมากเกินไป”

นายศุภกุล รัตนาคม ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ช่วงนี้เศรษฐกิจย่ำแย่ ถ้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้เรียบร้อยแล้ว เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น-รากหญ้าจะดีขึ้น ส่วนนายบรรจง ดีเหลือ รองประธานและเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลกคาดว่า รัฐบาลน่าจะอยู่ประมาณ 6 เดือน-1 ปีเท่านั้น