กกร. ชี้ เศรษฐกิจไทยชะลอตัวในไตรมาสที่ 3/61 เชื่อ ไตรมาสสุดท้ายยังดีขึ้นได้
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 ที่ประชุม กกร. ประเมินว่า ภาพเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 จะเติบโตชะลอลงจากช่วงครึ่งปีแรก จากหลายเครื่องชี้ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว การเบิกจ่ายของภาครัฐ รวมทั้งผลผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่าการหดตัวแรงของการส่งออกในเดือนกันยายน จะเป็นประเด็นระยะสั้น ประกอบกับภาครัฐน่าจะมีการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี น่าจะมีแรงหนุนที่ดีขึ้นได้ ดังนั้น กกร. มองว่า ภาพเศรษฐกิจไทยและการเติบโตของมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2561 จึงยังอยู่ในกรอบประมาณการ (GDP ขยายตัว 4.4-4.8% และการส่งออกขยายตัว 8.0-10.0%)
%YOY | ปี 2560 |
ปี 2561 (ณ 2 ต.ค. 61) |
GDP | 3.9 | 4.4-4.8% |
ส่งออก | 9.9 | 8.0-10.0% |
เงินเฟ้อ | 0.7 | 0.9-1.5% |
สำหรับการส่งออกของไทยในช่วงปีหน้า มีแนวโน้มเผชิญโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น จากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการเก็บภาษีนำเข้ารอบที่ 3, ผลต่ออุตสาหกรรมไทยจากการบรรลุข้อตกลงการค้าภายใต้กรอบ USMCA ( United States-Mexico-Canada Agreement หรือ NAFTA ใหม่), การที่ไทยถูกตัดสิทธิ์ GSP จากสหรัฐฯ ใน 11 รายการสินค้าส่งออก ตลอดจนผลกระทบทางอ้อมจากการขยายตัวที่ชะลอลงของการค้าและเศรษฐกิจหลักในโลก ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้เป้าหมายที่จะให้การส่งออกในปี 2562 เติบโตในอัตราสูงใกล้เคียงกับในปี 2561 อาจเป็นไปได้ยากขึ้น
มูลค่าการใช้สิทธิ GSP ของสินค้า 11 รายการ ในปี 2560 มีมูลค่า 46 ล้านเหรียญฯ หรือ 1.11% ของมูลค่าสินค้าไทยใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ รวมราว 4,200 ล้านเหรียญฯ (ปี 2560) หรือคิดเป็น 16.0% ของการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ คิดเป็น 11% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย กกร. เห็นว่าการถูกตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้น่าจะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทย ประกอบกับสินค้าไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน คาดว่าจะส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีประเทศผู้ส่งออกรายสำคัญที่เป็นคู่แข่งของไทยในตลาดสหรัฐฯ ที่ถูกตัดสิทธิด้วย ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ไทยจะสามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าของคู่แข่งได้
ทั้งนี้ กกร. ขอเสนอให้ภาครัฐจัดลำดับความสำคัญในการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ