ทางรอดสงครามการค้า ไทยรักษาฐานส่งออกอาเซียน-CLMV

อัปเดตล่าสุด 4 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 563 Reads   

ผ่านมา 1 ปี หลังเกิดสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจจีนและสหรัฐ จากเหตุผลสำคัญที่ “สหรัฐ” มุ่งสกัดการแผ่อิทธิพลของจีนที่รุกคืบเข้ามาในอาเซียน ผ่านเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ One Belt One Road เพราะหากจีนทำสำเร็จสามารถเชื่อมโยงทรัพยากรเศรษฐกิจ อิทธิพลทางการทูต ความสัมพันธ์เศรษฐกิจ อิทธิพลทางวัฒนธรรม ทรัพยากร มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจ (GDP) จีนจะใหญ่กว่าสหรัฐภายใน 10 ปี และกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก

และที่สำคัญ จีนประกาศนโยบาย “Made in China 2025” พัฒนาประเทศด้วยอุตสาหกรรมล้ำยุคทั้งหุ่นยนต์ การบิน ไอที ระบบราง พลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรเกษตร เดินทะเล วัสดุใหม่จะยิ่งทำให้จีนกลายเป็นมังกรติดปีก

ด้วยเหตุนี้ “สหรัฐ” จึงตั้งกำแพงภาษีสกัดสินค้าจีน มูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านเหรียญ ผลพวงที่ตามมาคือ ยอดส่งออกของทั้งสองประเทศ “ลดลง” โดยสหรัฐส่งออกไปจีนลดลง 38% จีนส่งออกไปสหรัฐลดลง 13% มูลค่าการค้าลดลง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลามไปสู่สงครามการค้าคู่อื่น ๆ ตามมาอย่างญี่ปุ่น-เกาหลี

TDRI แนะเร่ง FTA

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยข้อมูลในงานสัมมนา “ทางรอดของไทยในสงครามการค้า” ที่ TDRI จัดร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศว่า สงครามการค้าจะยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซัพพลายเชน ดังนั้น รัฐบาลไทยลดการพึ่งพาตลาดจีน และกระจายความเสี่ยงด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV ประกันการเข้าถึงตลาดหลักรับการลงทุนด้วย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ตลอดจนการขยายความตกลงเขตการค้าเสรีต่าง ๆ เช่น หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในภูมิภาค (RCEP) ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP ความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-อียู (Thai-EU FTA) การยกระดับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) รับมือการเปลี่ยนแปลง กระจายต้นทุน และประโยชน์อย่างเป็นธรรม

สงครามการค้า-โอกาสลงทุน

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง สงครามการค้านับว่าเป็นโอกาสให้การส่งออกไปทั้ง 2 ประเทศนี้ได้เพิ่ม เมื่อเศรษฐกิจจีนโตช้าลงและถูกโจมตี และเกิดการย้ายฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ ปิโตรเคมีมาอาเซียนเป็นหลัก แต่ “เวียดนาม” คือ ผู้ชนะสงครามการค้าด้วย มี 12 FTAs กับตลาด CPTPP ค่าแรงงานต่ำ โครงสร้างพื้นฐานพร้อมที่จะเป็นฐานผลิตหลักในเอเชีย (กราฟิก)

ทบทวน JTEPA ดันสินค้าเกษตร

นางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ทางเลือกหนึ่งที่สำคัญ คือ ทบทวนความตกลง JTEPA เนื่องจากญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นคู่ค้ากับไทยในอันดับที่ 3-4 มีการลงทุนในไทยเป็นอันดับ 1 หากทบทวน JTEPA สำเร็จจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าเติบโต 20% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ การทบทวนได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 โดยได้ตั้งอนุกรรมการด้านสินค้าเกษตร ทำให้สามารถเปิดตลาดไก่ มะม่วงเขียวเสวยได้ หากปรับปรุงการเจรจาจะช่วยเปิดตลาดสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรบางตัวมากขึ้น ถือเป็นทางรอดหนึ่งของไทย

กระชับมิตร “อาเซียน”

อย่างไรก็ตาม นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก กล่าวว่า ไทยจำเป็นที่จะต้องรวมกลุ่มอาเซียนไว้ เพราะอาเซียนคือนักลงทุนเบอร์ 1 ในไทย และเป็นตลาดเบอร์ 1 มีสัดส่วน 25% ของการส่งออกของไทย ซึ่งรายได้จากการส่งออกนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของจีดีพี

สอดรับกับมุมมองของ นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยส่งออกลดลงมาเรื่อย ๆ แม้ว่าก่อนนี้จะเป็นบวก แต่เราประมาทเศรษฐกิจโลกที่ฉุดทุกอย่าง ส่งผลให้ 6 เดือนแรก (ม.ค-มิ.ย. 2562) ติดลบ 2.9% และเพราะยังคงมีสัดส่วนการส่งออก 65-70% แต่ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตยานยนต์ให้กับทั่วโลกที่ต้องยึดการเป็น hub นี้ไว้ให้ได้ ด้วยเป็นสิ่งที่สำคัญมากของไทย

ทางรอดก็คือ การเปิดตลาดอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV คือ ตลาดที่ไทยต้องรักษาไว้ ปัจจุบันตลาดนี้มีสัดส่วน 10-12% ญี่ปุ่น 6% สหรัฐ 13% ยุโรป 10% อาเซียน 25% ที่เหลือคือจีน ตลาดนี้มีความนิยมในสินค้าไทย ฉะนั้น อย่าให้จีนหรือใครแย่งตลาดนี้ไป และต้องมอง FTA เข้ามาช่วย กระจายสัดส่วนการลงทุนไปยังหลายตลาดลดความเสี่ยง
 

ค้าชายแดน-สกัดสวมสิทธิ์

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลบวกที่ไทยได้รับคือออร์เดอร์ของสิ่งทอจากสหรัฐจำนวนมาก จีนซื้อสินค้าอาหารจากไทยเพิ่ม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ดึงการลงทุนบริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนที่เตรียมย้ายฐานเข้ามา ในขณะที่ผลลบกลับทำให้จีนใช้โอกาสนี้เข้ามาสวมสิทธิ์ (CO) ปลอม และยังพบว่าเกิดการสร้างอำนาจทางการตลาดผลไม้ โดยการตั้งล้งเองแทนเจ้าของพื้นที่ ใช้กลไกราคาเป็นตัวกำหนดอำนาจการต่อรอง ส่งผลให้ล้งไทยต้องปิดตัว การดัมพ์ราคาสินค้าที่ทะลักเข้ามาก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ไทยเคยได้รับผลกระทบมาแล้ว

ทางรอดของไทยในขณะนี้ยังมีอยู่

แม้ว่าภาคเอกชนจะต้องปรับตัวใช้นวัตกรรมเข้ามาแข่งขัน ทางภาครัฐก็ยังคงจำเป็นต้องช่วยดูเรื่องของกฎหมายที่ล้าสมัย นโยบายการค้าชายแดน ศุลกากร เปิดด่านสะพานแม่สอดที่เชื่อมเมียวดี อัตราค่าจ้างแรงงานที่ต้องเหมาะสม หากต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุน มิฉะนั้น นักลงทุนจะใช้วิธีลงทุนในเขตประเทศเพื่อนบ้านและใช้สิทธิ์ GSP

และไทยต้องเพิ่มข้อตกลงทางการค้าเพื่อเจาะตลาดใหม่ ต้องรู้ว่าตลาดใดที่ต้องการสินค้าไทย เช่น สินค้าคอมโมนิตี้ที่เป็นที่นิยมของฝั่งแอฟริกา เอเชียใต้ ศรีลังกาก็ควรมุ่งไปทางนั้น ส่วนสินค้าเกรดคุณภาพก็ควรที่จะส่งออกเจาะไปยังตลาดที่ต้องการ เป็นต้น

เตือน FTA ต้องรอบคอบ

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า การขยายข้อตกลง FTA ที่หลายฝ่ายมองว่าคือทางรอดของไทยในสงครามการค้านั้น รัฐต้องศึกษาให้ละเอียด โดยต้องระวังบางเรื่องที่ไทยเสียเปรียบ เช่น JTEPA ที่มีการเปิดให้นำขยะ หรือสินค้าใช้แล้ว อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์มายังประเทศไทย ด้วยภาษี 0% อาศัยอนุสัญญาบาเซิลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดน ของเสียอันตรายและการกำจัดเข้ามาทิ้งในไทย โดยอ้างว่าสามารถใช้ประโยชน์จากสินค้าเหล่านี้ได้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก หรือการปล่อยให้โรงงานเข้ามาตั้งสร้างมลพิษไม่ได้ควบคุมดูแล