20 หอการค้าอีสานชูนโยบาย “1 เส้นทาง 1 สายน้ำ” แก้แล้งซ้ำซาก

อัปเดตล่าสุด 6 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 574 Reads   

20 หอการค้าอีสานระดมสมอง ชูนโยบาย “1 เส้นทาง 1 สายน้ำ” หวังรวบรวมปัญหา ชงรัฐแก้ปัญหาอีสานแล้งซ้ำซากแต่ละจังหวัดให้ถูกจุด พร้อมเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรโดยอาศัยเส้นทางคมนาคม ถนน-ระบบรางเชื่อมการขนส่งเพิ่มมูลค่า

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสานถือเป็นปัญหาซ้ำซากที่ประชาชนในพื้นที่ประสบทุกปี ขณะที่น้ำเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะรายได้หลักของประชาชนในภาคอีสานส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตร ดังนั้น ในฐานะที่มารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคอีสาน ได้มีนโยบาย “1 เส้นทาง 1 สายน้ำ” ไปยัง 5 กลุ่มหอการค้า 20 จังหวัดในภาคอีสานให้ช่วยกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในแต่ละจังหวัดของตัวเอง และได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามความก้าวหน้าของแต่ละกลุ่มจังหวัด ซึ่งจะจัดให้มีการประชุมกันทุกเดือน เพื่อรวบรวมปัญหาทั้งหมดก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคอีสานพิจารณาอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน หลังจากประชุมเพื่อวางนโยบายนัดแรกไปแล้วที่จังหวัดขอนแก่น

“ต่อไปเราจะแก้ปัญหาเรื่องคำว่าแล้งซ้ำซาก เรื่องขาดแคลนน้ำ เวลาแล้งก็แล้งจริง ๆ เวลาน้ำมากจนล้นท่วม บ้านเราน้ำเยอะแต่ไม่ได้บริหารจัดการ ต่างคนต่างทำ ดังนั้น จึงให้โจทย์คนในพื้นที่แต่ละจังหวัดต้องไปคิดกันว่า พื้นที่ส่วนไหนของจังหวัดตื้นเขิน ควรจะมีแก้มลิงหรือไม่ ก็ควรให้ทางจังหวัดไปแก้ไข ให้คนในพื้นที่ไปคุยกันให้จบ เวลามาประชุมกันจะได้ทราบว่าแต่ละจังหวัดจะทำอะไรบ้าง ไม่ใช่ปล่อยน้ำฝนทิ้งลงแม่น้ำโขง ปล่อยน้ำฝนลงทะเล ดังนั้นต่อไปเราต้องหาวิธีการมาบริหารจัดการน้ำให้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด

ยกตัวอย่าง แม่น้ำโขงไหลผ่าน 7 จังหวัด แม่น้ำชีก็ผ่าน 4-5 จังหวัด ลำน้ำมูล จึงให้ทุกคนไปช่วยกันคิด ถ้าเชื่อมโยงกันได้ รวมถึงระบบชลประทานต่าง ๆ คิดว่าน่าจะช่วยปัญหาวิกฤตเรื่องน้ำได้ หรือเส้นทางน้ำจากจังหวัดอุดรฯ ไหลลงสู่จังหวัดกาฬสินธุ์ จากนี้ไประหว่างทางต้องดูว่าพื้นที่ จ.อุดรฯ ควรจะบริหารจัดการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในอนาคตหรือไม่ ดีกว่าปล่อยทิ้งไหลผ่านจังหวัดอุดรฯ ไปโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย ผมจึงออกนโยบาย 1 เส้นทาง 1 สายน้ำ เพื่อให้สอดรับการพัฒนายกระดับเรื่องการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้

ครั้งนี้ถือเป็นการทำงานร่วมกัน 20 จังหวัด แต่ละจังหวัดจะมีคณะทำงานแยกออกไปของแต่ละจังหวัด ผมในฐานะประธานจะเชื่อมโยงทุกคณะทำงานเข้ามา อย่างไรก็ตาม เรื่องการบริหารจัดการน้ำภาคเอกชนคงทำเองไม่ได้ แต่ถือเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนลงมาช่วยคิดช่วยทำและไปนำเสนอกับภาครัฐ น้ำ เป็นหัวใจทางเศรษฐกิจ ถ้าแก้ไม่ถูกทาง ก็ไม่เกิดประโยชน์ สายน้ำต้องเชื่อมเข้าหากัน เราไม่ปล่อยน้ำทิ้งไป ต้องให้เกิดประโยชน์” นายสวาทกล่าว
นายสวาทกล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายเรื่อง 1 เส้นทางนั้น ตนเห็นว่าภาคอีสานปัจจุบันมีเส้นทางคมนาคมทางถนนเชื่อมโยงถึงกันหมดทุกจังหวัด แต่ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้ จึงคิดว่าต่อไปแต่ละเส้นทางควรจะทำโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมกัน เหมือนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt, One Road ของจีน เพื่อให้เกิดการสร้างประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อไป 20 จังหวัดจะมาผนึกรวมกันเพื่อสร้างศักยภาพตรงนี้ ถ้าทำ 2 ตัวนี้สำเร็จได้จะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาคอีสานได้

“เราคุยกันเป็นภาพใหญ่ เราไม่คิดแยกกัน รวมกันเป็นพลัง เมื่อได้ข้อมูลมาแต่ละกลุ่มแต่ละภาคต้องช่วยกันผลักดัน ไม่ใช่จังหวัดเสนออย่าง ภาคเสนออย่าง กลุ่มจังหวัดเสนออย่าง ต่อไปนี้เราต้องเป็นเสียงเดียวกัน จะทำให้ระบบการพัฒนาไปทิศทางเดียวกัน ที่ผ่านมาเรามีสินค้าเกษตรดี แต่ถนนไม่ดีจะมีประโยชน์อะไร หากเรามีเส้นทางคมนาคม ทางบก ทางรางดี ต่อไปมีการเชื่อมโยงทางการค้ากัน จะทำให้เกิดมูลค่าเกิดการซื้อขายกัน” นายสวาทกล่าว